จีนพัฒนา”หุ่นยนต์กรีดยางพลัง AI” หวังแก้ปัญหาขาดแรงงานสวนยาง

CbkthzH007038 20250324 CBMFN0A002 scaled

จีนเปิดตัวหุ่นยนต์กรีดยางเคลื่อนที่อัตโนมัติซึ่งพัฒนาโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนจีน ร่วมกับบริษัทออโตโมทีฟ วอล์กกิง เทคโนโลยี ถือเป็นก้าวสำคัญด้านระบบอัตโนมัติทางการเกษตร และถูกออกแบบมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกรีดยางพาราที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางธรรมชาติ

CbkthzH007038 20250324 CBMFN0A003 scaled

หุ่นยนต์อัตโนมัติรุ่นนี้เตรียมนำไปทดลองใช้ที่สวนยางพาราในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีนระหว่างฤดูกรีดยางที่จะถึงนี้ในเดือนเมษายน โดยคลิปวิดีโอสาธิตเผยเจ้าหุ่นยนต์เคลื่อนตัวเข้าใกล้ต้นยาง ก่อนจะหยุดอย่างแม่นยำและยืดแขนหุ่นยนต์ออกเพื่อกรีดยางบนลำต้น ซึ่งจากนั้นไม่กี่วินาที น้ำยางสีขาวขุ่นไหลออกมาอย่างต่อเนื่องจากรอยกรีดที่หุ่นยนต์ทำขึ้น

CbkthzH007038 20250324 CBMFN0A005

ภาคส่วนยางธรรมชาติของจีน ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตยางรถยนต์และเป็นแหล่งจัดหาวัสดุอุตสาหกรรม กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานจำนวนมากเนื่องจากสภาพการทำงานที่หนักหน่วง การทำงานกะกลางคืน และอัตราการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน

CbkthzH007038 20250324 CBMFN0A004 scaled

หุ่นยนต์ดังกล่าวติดตั้งแขนกลอิสระหลายระดับและกลไกการเคลื่อนที่แบบตีนตะขาบ พร้อมติดตั้งเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อปรับฟังก์ชันการทำงานให้เข้ากับภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนและกรีดยางได้อย่างแม่นยำ

ระบบนำทางของหุ่นยนต์กรีดยางผสมผสานเรดาร์เลเซอร์ และอัลกอริธึมที่ผสานรวมเซ็นเซอร์หลายตัว ทำให้ระบุตำแหน่งแม่นยำในไร่ที่มีการเพาะปลูกหนาแน่น นอกจากนี้ เทคโนโลยีภาพยังสามารถระบุความลึกของเปลือกไม้และมุมตัด จึงบรรลุประสิทธิภาพคิดเป็นร้อยละ 80 ของการเก็บเกี่ยวด้วยแรงมนุษย์และได้น้ำยางที่มีคุณภาพไม่ต่างกัน

หุ่นยนต์ข้างต้นสามารถกรีดยางจากลำต้น 100-120 ต้นต่อชั่วโมง ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมซึ่งเอื้อให้ทำงานต่อเนื่องกว่า 8 ชั่วโมง และเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างรวดเร็วภายใน 20 วินาที ช่วยให้มั่นใจว่าสามารถทำงานในสวนยางพาราขนาดใหญ่โดยที่ไม่หยุดชะงัก

รายงานระบุว่าเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตขนานใหญ่ ต้นทุนของหุ่นยนต์กรีดยางจะลดลงต่ำกว่า 1 แสนหยวน (ราว 4.67 แสนบาท) และจะคืนต้นทุนที่ใช้ซื้อหุ่นยนต์ภายในเวลาราว 18 เดือนสำหรับสวนยางขนาด 50 หมู่ (ราว 20.83 ไร่)

เฉาเจี้ยนหัว รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนจีน เผยว่าเราได้หารือกับบริษัทผลิตยางข้ามชาติหลายแห่งและกลุ่มผู้เพาะปลูกยางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงในอินโดนีเซียและไทย พวกเขาให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ของเราอย่างมาก

ทีมงานของเฉายังคงพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง อีกไม่นานนี้ผู้ใช้งานจะสามารถตรวจสอบหุ่นยนต์ได้โดยตรงจากสมาร์ตโฟน มองเห็นภาพด้านในสวนยางได้ชัดเจน และใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีเอไอมากขึ้นเพื่อการจัดการอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ

(ข่าวและภาพจากสำนักข่าวซินหัว : หุ่นยนต์กรีดยางเคลื่อนที่อัตโนมัติในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน วันที่ 4 มี.ค. 2025)