ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตอบกระทู้สดที่รัฐสภา แม้คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะชี้แจงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนา พร้อมยืนยันว่า ไม่มีนโยบายให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นการปลูกกล้วย
“รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายให้ชาวนาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกกล้วยทั้งหมด แต่เป็นการเสนอทางเลือกเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีการทดลองปลูกกล้วย 150,000 ต้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเห็นถึงโอกาสในตลาดต่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกล้วยทั้งหมด”
ความสนใจเรื่องปลูกกล้วยหอมส่งนอก หรือแนะนำให้ปลูกกล้วยส่งนอกไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาหลายยุคสมัย
ชุดข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า คือ ญี่ปุ่นต้องการกล้วยไม่อั้น เพราะบริโภคในประเทศเขากว่า 1 ล้านตัน ข้อมูลนี้…คนญี่ปุ่นชอบกินกล้วย
พาณิชย์ขยับตลาดนำ เกษตรผลิตได้หรือไม่??
เราลองมาดูข้อมูลเรื่องกล้วยหอมกันหน่อยครับ
การผลิตกล้วยหอมของประเทศไทยในปี 2566 มีเนื้อที่ให้ผล 42,605 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 3,515 กิโลกรัม ผลผลิตรวมทั้งหมด 149,757 ตัน ต้นทุนการผลิตไร่ละ 5,687 บาท ราคาขายเฉลี่ยตันละ 15,233 บาท
ส่วนข้อมูลการค้าในปี 2566 มีปริมาณการบริโภคภายในประเทศ 148,236 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 95 เป็นการจำหน่ายผ่านตลาดกลางและห้างสรรพสินค้า และผลผลิตบางส่วนเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ปริมาณส่งออก 1,521 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 5
ส่วนใหญ่การส่งออกกล้วยหอมเป็นแบบทำสัญญาข้อตกลงล่วงหน้า มีมูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 35,092 บาท โดยมีคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน กัมพูชา ผลผลิตที่ส่งออกต้องมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานเงื่อนไขของคู่ค้า และยังมีโอกาสขยายตลาดการส่งออกได้ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2567)
สำหรับทิศทางและการส่งออกกล้วยหอมในอนาคตพบว่ามีทิศทางที่สดใส ประเทศญี่ปุ่นได้มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทย จำนวน 8,000 ตัน
ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวไม่เต็มโควต้าเพียง 3,000 ตัน ในขณะที่คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยมาก เพราะผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง ราคาไม่แพง เข้าถึงได้ และสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นขนมได้หลายชนิด ขณะที่ญี่ปุ่นปลูกกล้วยหอมได้ในปริมาณน้อย ต้องนำเข้าเฉลี่ยถึงปีละ 1 ล้านตัน ที่ผ่านมาไทย จึงตั้งเป้าเร่งส่งออกสินค้ากล้วยของไทยอีก 5,000 ตัน ให้ครบโควตาที่ไม่เสียภาษี“
และเมื่อดูบัญชีท้ายประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับกล้วยสด สับปะรดสด และเนื้อสุกรปรุงแต่งที่มีโควตาส่งออกตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจปีการส่งออก 2567
กล้วยสด ผู้มีสิทธิขอรับหนังสือรับรองและปริมาณที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 4 ราย ดังนี้
(1) บริษัท เจ เฟรช เชกะ จำกัด ปริมาณ 3,000 ตัน
(2) บริษัท โอเทนโต (ประเทศไทย) จำกัด ปริมาณ 410 ตัน
(3) บริษัท เอ็ม.อาร์.โปรเกรส จำกัด ปริมาณ 30
(4) บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด ปริมาณ 1,500 เมตริกตัน
รวมปริมาณ 4,940 ตัน
และ เมื่อเจาะข้อมูลลึกลงไปกว่านี้ โควต้าส่งออกกล้วยหอมต้องได้ความเห็นชอบจากกรมวิชาการเกษตร
ทั้งนี้ วันที่ 2 มกราคม 2568 ได้มีการออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การจัดสรรโควตาส่งออกกล้วยสดไประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ปีที่ 19 ตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ในปีที่ 19 ประเทศญี่ปุ่น จัดสรรโควตาส่งออกกล้วยสดให้แก่ประเทศไทย จำนวน 8,000 ตัน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2569
คุณสมบัติการจัดสรรโควตาส่งออกกล้วยสดไปประเทศญี่ปุ่น แบ่งออกเป็นสามส่วน ดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละ 10 เป็นโควตากลาง
(2) ร้อยละ 20 เป็นโควตาสำหรับผู้ส่งออกรายใหม่
(3) ร้อยละ 70 เป็นโควตาสำหรับจัดสรรให้ผู้ส่งออกรายเก่าที่มีประวัติส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น เฉลี่ยสามปีย้อนหลัง
ปลูกว่ายากแล้ว เจอขั้นตอนเข้าไป การเตรียมกล้วยส่งนอกไม่ใช่เรื่องงาย ที่สำคัญต้องได้มาตรฐานตามที่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ระบุไว้ 
เรื่องของกล้วย ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆที่ง่ายแสนง่าย ปลูกเสร็จส่งออกญี่ปุ่นได้ในทันทีทันใด
(ที่มา ข้อมูล ข่าว กรมส่งเสริมการเกษตร  , ประกาศกรมการค้าระหว่างประเทศ , ประกาศกรมวิชาการเกษตร , สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)