เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 สมาคมทุเรียนไทย นำโดย นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย นายภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย และคณะ ได้เข้าพบ นาย เจียง เหว่ย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยได้ให้ข้อมูลสถานการณ์การตกค้าง BY2 และแคดเมียม ในทุเรียนไทย และได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในทุเรียนเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ตั้งแต่ภาคการผลิตจากในสวน โรงคัดบรรจุ และการส่งออก และได้นำเสนอการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยในการตรวจหาสารตกค้างในทุเรียนที่มีความแม่นยำ เพื่อนำมาช่วยในกระบวนการส่งออกทุเรียน การแนะนำชาวสวนทุเรียนไทยในให้ทราบถึงเรื่องของการจำกัดการใช้สารเคมีที่ทางการประเทศจีนได้แจ้งเตือนห้ามมีสารตกค้าง 4 ได้แก่ โอเมทโทเอท คาร์โบซัลเฟน อะซีเฟต ฟิโพรนิล การเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีสารแคดเมียมเกินมาตรฐาน การจัดการสวนทุเรียนเพื่อลดการตกค้างของแคดเมียมในเนื้อทุเรียนซึ่งจีนกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ด้าน นาย เจียง เหว่ย ได้รับฟังและรับทราบถึงแนวทางการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นและยอมรับในแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายทุเรียนไทยได้นำเสนอ ได้ชื่นชมความร่วมมือเครือข่ายทุเรียนไทยและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องสารแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน และ BY2 สำหรับทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนได้บริโภคทุเรียนที่ปลอดภัย
นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า การเข้าพบ นาย เจียง เหว่ย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) ในวันนี้ เป็นการมาอัพเดทสถานการณ์ปัญหาแคดเมียม และ BY2 ในทุเรียนเพื่อให้ทางตัวแทนของรัฐบาลจีนได้ทราบถึงการเร่งการแก้ปัญหาของทั้งทางฝั่งชาวสวนทุเรียน โรงคัดบรรจุ ผู้ส่งออกทุเรียน รวมถึงหน่วยงานต่างๆของทางรัฐบาล เพื่อผลิตทุเรียนไทยให้ปลอดภัย มีสารแคดเมียมตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐานที่ทางการประเทศจีนกำหนด และไม่มีสารสีเหลือง BY2 ปนเปื้อน ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการเข้าพบครั้งนี้ โดยทางสมาคมทุเรียนไทยได้มีการนำทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี มามอบให้ นาย เจียง เหว่ย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) และคณะทำงานที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าทุเรียนไทยปลอดภัยจากสารแคดเมียม และ BY2
สำหรับเรื่องสารแคดเมียมและสารสีเหลือง BY2 ที่ปนเปื้อนทุเรียน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ศุลการกรแห่งชาติจีน (GACC) กำหนดให้ทุเรียนทุกล๊อตจากทุกประเทศที่ส่งออกมาจีนต้องแนบผลวิเคราะห์ BY2 และผลต้องไม่พบสารดังกล่าว โดยจีนจะสุ่มตรวจที่ด่านนำเข้าสินค้าทุกล๊อต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
มาตรการดังกล่าว เกิดขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีน ได้ตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารของทุเรียนไทยที่นำเข้ามาประเทศจีน พบปัญหาการใช้สาร BY2 จึงทำให้ศุลกากรแห่งชาติจีนออกมาตรการอย่างฉุกเฉินที่ใช้กับประเทศที่อนุญาตส่งออกทุเรียนเข้าจีน ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย กับด่านนำเข้าผลไม้ของจีนทุกแห่ง
ทางกรมวิชาเกษตรได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ยังขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชาวสวน และผู้ประกอบการส่งออกปฏิบัติตาม มาตรการ 4 ไม่ ได้แก่
1.ไม่อ่อน
2.ไม่หนอน
3.ไม่มีสวมสิทธิ์
4.ไม่สีไม่มีสารเคมีต้องห้าม
ด้าน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความมั่นใจว่าสำหรับทุเรียน ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการทดสอบสาร BY2 แล้วจำนวน 13 ห้อง โดยจะสามารถทดสอบตัวอย่างได้วันละ 3,000 ตัวอย่าง ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับปริมาณทุเรียนที่จะต้องตรวจก่อนส่งออก
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas (GTA) มีรายงานว่า ประเทศไทย ส่งออกทุเรียนสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 121,398 ตัน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็นมูลค่า 717 ล้านเหรียญสหรัฐฯ