กลุ่มสมาชิกสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ประมาณ 130 คน นำโดยนาย นัยฤทธิ์ จำเล ประธานที่ปรึกษาฯ และนายณัฐวัฒน์ ทองงามขำ เดินทางไปชุมนุมที่บริเวณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดเรื่องปรับราคาน้ำนมให้เข้าตามมติ ครม.
โดยนายนัยฤทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า ตัวแทนรัฐบาลได้ติดต่อมาว่าจะมีการจัดประชุมหารือ กลุ่มจึงจัดตัวแทน 25 คน เพื่อเจรจาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าทางภาครัฐ จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้วันไหนหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าผลการเจรจาหาข้อยุติไม่ได้ จะยังคงชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน
โดยย้ำวัตถุประสงค์ที่มารวมตัวชุมนุม คือ ต้องการมาเร่งรัดปรับราคาน้ำนม ตามมติประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด ที่ได้เห็นชอบ 3 มาตรการ ประกอบด้วย
- เห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในปี 2565 จากกิโลกรัมละ17.50 บาทเพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 2.25 บาท เป็นกิโลกรัมละ 19.75 บาท
- เห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ในปี 2565 จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 20.50 บาท
- ภาครัฐชดเชยให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 0.75 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 270 ล้านบาท
จนเวลา 11.00 น.กลุ่มตัวแทนมาเพิ่มจำนวน 40 คน จึงได้เข้าประชุมหารือกับนายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในห้องประชุม 134 กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุม ต้องการให้เรื่องปรับราคาน้ำนม เข้าในวาระการประชุม ครม.ภายในวันที่ 9 สิงหาคมนี้
ขณะเดียวกันนายประยูร รับทราบปัญหาและเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมแจ้งว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ และขอเวลาศึกษารายละเอียด 1-2 สัปดาห์
ทางกลุ่มไม่พอใจกับคำตอบที่ไม่สามารถรับปากได้ว่าจะนำเรื่องเข้า ครม.ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ไดเ้จึงยืนยันที่จะชุมนุมต่อไป และขอเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน
โดยก่อนหน้านี้นายนัยฤทธิ์ ระบุว่า โครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังประกาศประกันราคาน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งประเทศไทย ต่อมาจากภาวะวิกฤติโรค โควิด -19 ระบาดในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคมีการบริโภคนมลดลงส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโดนมได้รับความเดือดร้อนหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกันจากภาวะวิกฤตโรคระบาด ยังส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจผันผวนราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 30-40% อาหารหยาบมีการปรับตัวสูงขึ้น ปุ๋ย-ยารักษาสัตว์มีราคาแพงขึ้นตามกลไกการตลาดขณะเดียวกันอาหารสำเร็จรูปก็มีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นตามนโนบายแห่งรัฐทำให้ต้นทุนการผลิตนมมีต้นทุนสูงขึ้น พร้อมกับค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
จึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาขาดทุน ต้นทุนการผลิตสูง มีรายได้ไม่เพียงพอกับคำใช้จ่าย ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายรายต้องล้มเลิกกิจการเลี้ยงโคนม ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รับความเดือดร้อน
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมต่อไปได้เกษตรกรจึงขอความอนุเคราะห์รัฐบาลปรับราคาน้ำนมดิบจากเดิมกิโลกรัมละ19 บาท บวกลบตามคุณภาพเป็นราคากิโลกรัมละ 22 บาทบวกลบตามคุณภาพ ตามภาวะต้นทุนการผลิตนมสูงเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยสามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมต่อไปได้