ครม. ไฟเขียว 200 ล้านบาทเพิ่มประสิทธิภาพฝนหลวง แก้ปัญหาภัยแล้งและฝุ่นละอองขนาดเล็ก

IMG 20250303103944000000 scaled

วันที่ 3 มีนาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าครม. ได้อนุมัติงบประมาณงบกลางโครงการจัดหาชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 น้ำแข็งแห้ง ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อติดตั้งในพื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 4 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการดัดแปลงสภาพอากาศให้บรรเทาปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก

สาระสำคัญของเรื่อง
                    

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีภารกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศแบ่งเป็น ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศและปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อป้องกันแก้ไขบรรเทาภัยพิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีความต้องการใช้น้ำแข็งแห้งในการปฏิบัติการฝนหลวง ขั้นตอนการโจมตีปีละ 2,240 ตัน และมีความต้องการใช้น้ำแข็งแห้งในการระบายฝุ่นละอองใต้ชั้นอุณหภูมิผกผันสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปีละ 3,600 ตัน รวมเป็นความต้องการใช้น้ำแข็งแห้งทั้งสิ้น ปีละ 5,840 ตัน แต่ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 600 ตัน/ปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน
                    

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 เพื่อดำเนินงานตามโครงการจัดหาชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 (น้ำแข็งแห้ง) จำนวน 4 แห่ง วงเงินงบประมาณ 200,000,000 บาท โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27
                     

ประโยชน์และผลกระทบ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการดัดแปรสภาพอากาศในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติ อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว