
เกษตรกรบ้านจำปูน อำเภอรามัน จังหวัดยะลา จำนวน 15 คน รวมตัวกันในชื่อ“วิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฏีใหม่บูหงากาโป” ปลูกอ้อยคั้นน้ำขายในช่วงรอมฎอน พร้อมชูสโลแกน รอมฏอนนี้ ให้ความหวานและความรัก “ไม่ต้องอ่อย ให้อ้อยก็พอ”
บ้านจำปูนเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ราษฎรได้สะท้อนปัญหามายังคณะอนุกรรมการประสานงานโครงการพัฒนาของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดยะลา โดยคณะทำงานได้ร่วมกันหารือวางแผนการปลูกอ้อยคั้นน้ำ พลิกฟื้นพื้นที่น้ำท่วมสู่แปลงอ้อยคั้นน้ำสร้างรายได้ ซึ่งปีนี้เป็นการดำเนินงานโครงการนำร่องเพื่อค้นหารูปแบบการส่งเสริม และขยายผลต่อไป
การวางแผนบนกระดาษเพื่อปลูกอ้อยคั้นน้ำที่ได้เงิน เป็นความร่วมมือจากปราชญ์ชาวบ้าน สถานีพัฒนาที่ดินยะลา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา สำนักงานเกษตรอำเภอรามัน พาณิชย์จังหวัดยะลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำหนดช่วงเก็บเกี่ยวอ้อยให้ตรงกับช่วงรอมฎอน ที่ลูกค้ามีความต้องการซื้อสูง
อ้อยคั้นน้ำ ปลูกไม่ยาก ใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 8-10 เดือน ก็สามารถตัดไปคั้นน้ำจำหน่ายได้ เกษตรคำนวณต้นทุนการผลิตน้ำอ้อยคั้นน้ำและกำหนดราคาขาย ที่ขวดละ 10 บาท จะได้กำไร 4 บาทต่อขวด ซึ่งมีต้นทุนค่า 6 บาท ต่อขวด
สำหรับการตลาดมีกลุ่มเยาวชนในชุมชน นำไปจำหน่ายทดลองตลาดในพื้นที่ เช่น ตลาดธงฟ้า จังหวัดยะลา
.
นอกจากนี้กลุ่มยังได้จำหน่ายท่อนพันธุ์กว่า 150,000 ท่อน ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่นนำไปส่งเสริมให้กับกลุ่มลูกค้าของหน่วยงาน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจอีกกว่า 300,000 บาท
.
ด้านนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจและร่วมพิธีตัดอ้อยมีดแรกของฤดูกาล พร้อมเป็นผู้มอบปัจจัยการผลิตให้กับกลุ่ม เช่น สารปรับปรุงดิน อุปกรณ์ทำปุ๋ยหมัก ฯลฯ ให้สมาชิกไว้ใช้ภายในกลุ่ม รวมทั้งกล่าวสร้างความมั่นใจและให้กำลังใจกับสมาชิก “เราต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาพัฒนาโครงการเพื่อขยายผล ทั้งภายในอำเภอรามัน และอำเภอกาบังต่อไป