นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ตัวเองพร้อมคณะกรรมการสมาคมฯ ได้มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเกษตรฯ และ รัฐมนตรีพาณิชย์ฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 และอนุกรรมการด้านการตลาดได้แจ้งประชุมในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาบ่าย ซึ่งสมาคมชาวนาฯ หวังว่าจะได้ความชัดเจนในแนวทางวิธีการช่วยเหลือชาวนา
นายปราโมทย์ ระบุว่า ที่ผ่านมา เกษตรกรได้ออกมาเรียกร้องเรื่องขอให้ชดเชย กรณีของการห้ามเผาฟาง เพราะทำให้เกิดต้นทุนการจัดการนาที่สูงขึ้นไร่ละประมาณ 500 บาท และเรื่องของราคาข้าวตกต่ำ ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าทางภาครัฐให้ความสำคัญน้อย จึงทำให้ชาวนาเคว้งคว้าง และได้มีการรวมตัวของชาวนาเพื่อเดินทางไปร้องเรียนตามศาลากลางจังหวัดต่างๆ และมีบางส่วนได้ทำการปิดถนน ซึ่งเรื่องนี้สมาคมชาวนาก็ไม่เห็นด้วยและก็ไม่สบายใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
‘สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยได้ออกมายื่นข้อเสนอ และข้อแนะนำในการช่วยเหลือเกษตรกรใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้ 1) การชดเชยในการห้ามเผาฟางไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่เพาะปลูกจริง ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 2) การช่วยเหลือในเรื่องราคาตกต่ำไร่ละ 500 บาท จ่ายตามพื้นที่ๆเพาะปลูกจริงตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 3) เรื่องของปัจจัยการผลิตราคาแพง เช่น ปุ๋ย ยา และเรื่อง พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตที่สูงกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนชาวนาลดลง ตอบโจทย์ทั้งชาวนาและตลาด ’ นายปราโมทย์ กล่าว และว่า ข้าวนาปรัง ชุดใหญ่จะเริ่มเก็บเกี่ยวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน 2568 มีพื้นที่เพาะปลูกรวมประมาณ 10 ล้านไร่ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน บริเวณลุ่มเจ้าพระยา ภาคอีสานและภาคเหนือรวมกัน
ส่วนประเด็นชาวนาในจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ออกมาร้องขอรับการ เยียวยาเพื่อให้ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำ ที่ช่วงเวลาน้ำหลากจำเป็นต้องป้องกันน้ำท่วมจึงทำให้ชาวนาเสียโอกาสในการทำนาเป็นเวลาสามถึงสี่เดือน และประเด็นอื่นๆในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด
นายกสมาคมชาวนาฯ มองว่า การช่วยเหลือต้องเป็นการจ่ายเงินตรงให้กับพี่น้องชาวนา ทำให้ชาวนาได้เงินอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนการบริหารจัดการ ลดการเกิดการสูญเสีย โดยไม่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น และไม่เป็นการบิดเบือนราคาตลาด เนื่องจากเป็นข้าวนาปรัง การจ่ายตรงให้ชาวนาเป็นการดีที่สุด เพราะหากเทียบกับการจำนำใบประทวน ที่จะต้องมีการบริหารจัดการและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เวลาขายรัฐก็ขาดทุนมาก และเสี่ยงต่อการทุจริต ทำให้เงินถึงมือชาวนาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และส่วนจำนำ ยุ้งฉางของเกษตรกรเพื่อชะลอ การขาย ก็ไม่เหมาะที่จะใช้กับข้าวนาปรัง และการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกในขณะนี้ สูงกว่าตลาดตันละ100-200บาท ก็ไม่สามารถช่วยเหลือความเดือดร้อนของชาวนาได้ และภาครัฐควรมีแผนในระยะยาว เรื่องพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในเรื่องแหล่งน้ำ เรื่องปัจจัยการผลิต และเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว รวมถึงการแก้ไขปัญหาการไม่เผาฟางในระยะยาว
จึงขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาชาวนาอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นคงจะห้ามชาวนาที่จะออกมาร้องเรียนกันไม่ไหว และหากมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาแทรกแซงจะยิ่งเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา