รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือถึงผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า โดยหนังสือมีเนื้อหาใจความว่า ขอประชาสัมพันธ์รับสมัครสมาชิกผู้ผลิต/ผู้ประกอบการค้าที่ประสงค์จะขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ละมุดสุโขทัย โดยรับสมัคร ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย กลุ่มส่งเสริมการประกอบธุรกิจการค้าและการตลาด เลขที่ 9 ถนนศรีอินทราทิตย์ อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ 055616194 ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเตรียมบัตรประชาชน เพื่อขอรับการสมัคร (รายกลุ่ม/รายเดี่ยว) ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 (วันและเวลาราชการ) เป็นต้นไป ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2568 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( GI ) “ละมุดสุโขทัย “
สำหรับ “ละมุดสุโขทัย”หรือ Sukhothai Sapodilla หรือ Lamut Sukhothai หมายถึง ละมุดสายพันธุ์มะกอก ที่มีลักษณะผลยาวรีทรงไข่ ผิวเปลือกบางมีสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อแห้ง กรอบ ละเอียดไม่เป็นทราย สีน้ำตาลอมแดง มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน ปลูกในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลคลองกระจง ตำบลเมืองบางยม ตำบลย่านยาว และอำเภอศรีสำโรง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลลสามเรือน ตำบลวัดเกาะ ของจังหวัดสุโขทัย
ประวัติความเป็นมา
ละมุดสุโขทัย เป็นละมุดพันธุ์มะกอก ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมโบราณและถือว่าเป็นไม้ผลประจำถิ่นในพื้นที่ที่ช่วยในเรื่องระบบนิเวศเศรษฐกิจ และทนต่อสภาพน้ำท่วมขังและสภาพแห้งแล้งได้ดี มีการปลูกละมุดมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 100 ปี แหล่งที่ปลูกละมุดมากที่สุด คือ ตำบลท่าทอง ตำบลคลองกระจง ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก ดั่งคำขวัญประจำตำบลท่าทอง ที่กล่าววา “ถิ่นละมุดสุดหวาน ละมุดท่าทอง”
กล่าวได้ว่าจังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งผลิตละมุดหวานแหล่งหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 5,000 ไร่ ในอำเภอสวรรคโลกและอำเภอศรีสำโรง ของจังหวัดสุโขทัย อีกทั้งได้มีการเรียนรู้คัดเลือกสายพันธุ์ และการขยายกิ่งพันธุ์ จากภูมิปัญญาอย่างยาวนาน ส่งผลให้มีการซื้อขายกิ่งพันธุ์ไปยังต่างจังหวัดมากมายในนาม “ละมุดสุโขทัย” ผนวกกับภูมิปัญญาการบ่มละมุดที่เลือกใช้ใบตองกล้วยตานีที่ปลูกในพื้นที่มีความหนา เหนียวไม่กรอบ ใช้สำหรับการรองบ่มเพื่อช่วยรักษาสภาพอุณหภูมิการบ่มได้ดี ทำให้ละมุดสุกสม่ำเสมอ จึงถือได้ว่าละมุดสุโขทัยเป็นผลไม้ที่อยู่คู่กับพื้นที่มาอย่างยาวนาน และรู้จักกันแพร่หลายทั่วไป