ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรฯ”ดร.ณมานิตา” ประชุมคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2568

907632

ดร.ณมานิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2568 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (134-135) และผ่านระบบ Zoom meeting ว่า ที่ประชุมได้ร่วมติดตามผลการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

907650
  1. ผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ โดย กรมประมง ได้ดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำรวมทั้งสิ้น 3,079,674.50 กิโลกรัม แบ่งออกเป็น จากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกษตรกร จำนวน 1,884,983 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 61.21 และจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 1,187,992.50 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 38.58 (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.พ. 2568) ทั้งนี้ กรมประมงได้ดำเนินการศึกษาและวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำเพศผู้ และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์ในธรรมชาติ เพื่อให้ได้ลูกปลาหมอคางดำที่มีลักษณะเป็นปลาหมอคางดำโครโมโซม 3n หรือมีลักษณะเป็นหมันไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น
  2. ผลการแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนย้อมสีไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการติดตามและตรวจสอบมาตรฐานทุเรียนผลสดส่งออกในทุกชิปเม้นท์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการ 4 ไม่  เพื่อควบคุมมาตรฐานทุเรียนไทย ประกอบด้วย 1) ไม่อ่อน 2) ไม่หนอน 3) ไม่สวมสิทธิ์ และ 4) ไม่มีสีและสารเคมีต้องห้าม อีกทั้งได้บูรณาการร่วมกับห้องปฏิบัติการทดสอบ (Lab) กว่า 8 แห่ง ในการตรวจวิเคราะห์สาร Basic Yellow 2 (BY2) และแคดเมียม เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศคู่ค้า อีกด้วย
907639

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือแนวทางการแก้ไขการระบาดหนอนหัวดำในมะพร้าว ซึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจผ่าน 5 มาตรการ ดังนี้ 1) การสร้างการรับรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้าใจในการจัดการศัตรูมะพร้าวให้แก่เกษตรกร 2) การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย โดยจะมีรายงานสถานการณ์การระบาดผ่านทางเว็บไซต์ และช่องทางการติดต่อของหน่วยงาน 3) การป้องกันและควบคุมการระบาด เพื่อกำจัดเขตการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชลบุรี จ.สุราษฎร์ธานี จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี 4) การให้ความช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนการผลิตและใช้ศัตรูธรรมชาติ รวมถึงแนะนำการใช้สารเคมีเพื่อตัดวงจรการระบาด และ 5) การติดตามประเมินผลจากการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ในทุกระดับ เพื่อควบคุมและกำจัดศัตรูมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

907634
907648