วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยนายพยุงศักดิ์ สิทธิลภ เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางวชิรา ไฝเจริญมงคล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนและการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่บ้านนาปลาจาด อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
จุดที่ 1 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกกระเทียมและพืชผักปลอดภัยนาปลาจาด ที่อยู่/ที่ตั้ง เลขที่ 91 หมู่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกจำนวน 7 ราย เพื่อจำหน่ายและแปรูปกระเทียม ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ได้แก่ กระเทียมสด กระเทียมดอง และกระเทียมผง มีช่องทางการจำหน่าย คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นการออกร้าน งานจัดแสดงสินค้าทั้งในและนอกจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์
จุดที่ 2 เยี่ยมชมแปลงปลูกกระเทียมอินทรีย์ ของนายสุขเกษม คำสม ที่ได้เข้าร่วมโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล (การผลิตกระเทียมอินทรีย์) เพื่อเข้าสู่การขอการรับรองมาตรฐานกระเทียมอินทรีย์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูก และตรวจวิเคราะห์น้ำที่ใช้ทางการเกษตร เพื่อตรวจสิ่งปนเปื้อน และแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำ นอกจากนี้ ได้สนับสนุนความรู้เกี่ยวกับการผลิตแหนแดงเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ และเป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจนในดิน และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตขยายแหนแดง ทั้งนี้ ในส่วนกระบวนการผลิตกระเทียมอินทรีย์ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการผลิตพืชตามระบบเกษตรอินทรีย์ โดยบูรณาการกับหน่วยงานพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร
จุดที่ 3 เยี่ยมชมแปลงเรียนรู้การทดสอบและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ผักครบวงจร) โครงการทดสอบและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมแปลงทดสอบและถ่ายทอดเทคโนโลยี (ทดสอบพันธุ์กระเทียม) เป็นแปลงทดสอบการใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้คัดเลือกเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมจำนวน 1 ราย ที่มีความพร้อมในการดำเนินงานจัดทำแปลงทดสอบ กรรมวิธีในการทดสอบจะใช้พันธุ์กระเทียมจาก 4 แหล่งพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาทดสอบการปลูกร่วมกับการใส่ปุ๋ยในวิธีที่ต่างกันออกไป เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะนำผลผลิตที่ได้จากแต่ละแปลงทดสอบ มาชั่งน้ำหนัก สุ่มวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหัว รวมไปถึงตรวจวิเคราะห์สารสำคัญของกระเทียม เพื่อประเมินคุณค่าทางอาหาร คุณค่าทางยา สำหรับนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสุดท้ายจะเป็นการให้คะแนนความพึงพอใจจากผู้ประกอบการหรือผู้รับซื้อ เพื่อนำมาสรุปผลการทดสอบ
จุดที่ 4 การส่งเสริมการปลูกถั่วลิสงลายเสือตามความเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดในพื้นที่หลังประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) และพื้นที่ที่เหมาะสม มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกถั่วลิสงลายเสือในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน พร้อมทั้งเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดกับกลุ่มแปลงใหญ่น้ำบ่อสะเป่และเกษตรกรเครือข่าย อำเภอปางมะผ้า เพื่อผลิตถั่วลิสงลายเสือ จำหน่ายให้กับบริษัทรับซื้อและพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันมีเกษตรกรผลิตถั่วสิสง รุ่น 1 จำนวน 50 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 200 ไร่ และรุ่น 2 จำนวน 225 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 980 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตสดรวม 354 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10,620,000 บาท