มณฑล ปริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ เปิดเผยว่า ทุเรียนไทย ที่กำลังได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของจีน โดยเฉพาะจะต้องมีผลการตรวจการปนเปื้อนสาร BY2 และ แคดเมียม ในทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ว่า ไม่มีการปนเปื้อน หรือ Not Detected แนบไปด้วยนั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องปรับตัวตามมาตรการที่กรมวิชาการเกษตร กำหนดออกมาทั้งหมด เพื่อให้การส่งออกทุเรียนไปยังปลายทางไม่เกิดผลกระทบ
แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเสนอภาครัฐ และกรมวิชาการเกษตร ควบคู่กับการที่สั่งการให้ผู้ประกอบการดำเนินการแนบผลการวิเคราะห์จากผู้ประกอบการด้วยนั้น คือ
-ต้องการให้กรมวิชาการเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจวิเคราะห์ผลทุเรียนส่งออกจากสวนในขั้นแรก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อนใดๆ ตั้งแต่ต้นทาง
-ต้องควบคุมการใช้สารใดๆในการปลูกทุเรียนอย่างจริงจัง และมีมาตรการเด็ดขาด สำหรับผู้ที่นำเข้าสารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือไม่ได้รับอนุญาต มาใช้ในการปลูกทุเรียน และลงไปให้ความรู้กับเกษตรกรในการใช้สารประกอบในการปลูกทุเรียนอย่างถูกต้อง
-ภาครัฐ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในประเทศไทยก่อนว่า ทุเรียนสามารถรับประทานได้ ด้วยการจัด Event หรืออื่นๆ ในพื้นที่ปลูกทุเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทย และต่างชาติได้เห็นว่า ผลไม้ไทยบริโภคได้ไม่มีการปนเปื้อน
มณฑล ระบุว่า ทุเรียนไทยยังสามารถไปได้ไกล หากทุกฝ่ายทั้ง ชาวสวน ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ร่วมกันแก้ปัญหาให้ตรงกับที่ประเทศคู่ค้ากำหนด จึงไม่อยากให้โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสิ่งที่เกิดขึ้นอยากให้นำมาเป็นบทเรียนระวังและต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ล่าสุด นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี เชิญผู้ประกอบการ และกลุ่มสมาคม ประชุมแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ (ทุเรียน) ฤดูกาลผลิตปี 2568 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ไทยและจีนกำหนด วันอังคารที่ 21 มกราคม 2568 เวลา 15.00 น. ที่ โรงแรมนิว แทรเวิล ลอด์จ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เนื่องจาก จ.จันทบุรี กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้และจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิต ปริมาณผลิตกว่า 700,000 ตัน