กรมวิชาเกษตร ประชุมด่วนคุมเข้มผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไปจีน ย้ำ ประกาศกวก. ยึดหลักมาตรการ 4 ไม่ หากพบฝ่าฝืนสั่งปิด-ดำเนินคดีทันที

S 10747908

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเร่งด่วนให้ขับเคลื่อน “นโยบายผลไม้ปลอดภัย มีคุณภาพ สำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออก” กรมวิชาการเกษตรได้ผสานความร่วมมือกับกรมความปลอดภัยอาหารนำเข้าและส่งออก สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of The People Republic of China : GACC) เพื่อยกระดับการควบคุมตรวจสอบสารตกค้างในทุเรียนและลำไยส่งออกไปจีนในโรงคัดบรรจุ และควบคุมคุณภาพผลไม้ไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานความปลอดภัย ในฤดูกาลส่งออก ปี 2568 พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าเกษตรไทยรองรับการเติบโตของการส่งออกไปจีนในอนาคต

S 10747911

สำหรับในวันที่ 8 ม.ค.68 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้หารือกับ Department of Animal And Plant Quarantine ของ GACC โดยทางการจีนได้กำหนดให้ทุเรียนที่ส่งไปจีนนับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 68 เป็นต้นไปต้องไม่มีสารห้ามใช้และให้ทุกลอตต้องมีใบรับรองผลการตรวจสอบไปกับทุเรียนด้วย ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ.๒๕๖๘ ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๘ โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 10 ม.ค. 68 เป็นต้นไป

S 10747913

สาระสำคัญของประกาศกวก.ประกอบด้วย

  1. ห้ามโรงคัดบรรจุใช้ “สารห้ามใช้” ในกระบวนการคัดบรรจุ เช่น Basic yellow 2 ในทุเรียนผลสดอย่างเด็ดขาด
  2. โรงคัดบรรจุต้องใช้ “สารที่อนุญาตให้ใช้” ในกระบวนการคัดบรรจุ ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
  3. กรมวิชาการเกษตรจะ “set zero” การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุใหม่ทั้งหมด
S 10747914

ส่วนในวันที่ 10 ม.ค. 68 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมภาคเอกชน และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียนและลำไย ร่วมประชุมหารือเร่งด่วนทั้งที่กรมและผ่านระบบออนไลน์ทั่วประเทศ เพื่อพิจารณาแนวทางยกระดับการควบคุมตรวจสอบสารห้ามใช้ ได้แก่ Basic yellow2 และแคดเมียมในทุเรียน โดยกำหนดให้ ทุเรียนที่จะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด กรณีที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ต้องใช้ทั้งชนิดและปริมาณที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง หรือตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า และวันเดียวกันจะได้ทำหนังสือไปยังจีนให้ทราบความก้าวหน้าดังกล่าวร่วมถึงจะขอหารือในประเด็นที่จะเป็นอุปสรรคทางการค้าของสองประเทศอีกด้วย

S 10747915

ทั้งนี้ ในวันที่ 13 มกราคม 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เรียกประชุมเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อหามาตรการคุมเข้มทั้งระบบ โดยเฉพาะกรณีที่จีนตรวจพบสาร Basic yellow 2 ซึ่งเป็นสารต้องห้ามใช้ตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นสารที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม2B ในทุเรียนที่ส่งออกจากไทย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

ส่วนกรณีการส่งออกลำไยไปจีน มีแนวทางยกระดับการควบคุมตรวจสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่ให้ตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม คือ “การเพิ่มความถี่และความเข้มงวดในการตรวจติดตามการสุ่มเก็บตัวอย่างของเจ้าหน้าที่สุ่มเก็บตัวอย่างที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และทวนสอบรายงานผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการทดสอบที่กรมวิชาการเกษตร ให้การยอมรับความสามารถ เป็นต้น”

S 10747919

“กรมวิชาการเกษตรจะขอเจรจากับทางการจีนอีกรอบ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคส่งผลประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย โดยที่ผ่านมาไทยและจีนมีการเจรจาผ่านกรอบพิธีสารไทย-จีน ร่วมแก้ปัญหาวิกฤติมาด้วยกันโดยเฉพาะการระบาดของโควิดจนผ่านพ้นมาด้วยดีเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสหาทางออกที่ดีร่วมกัน เพื่อรักษาตลาดทุเรียนไทยมูลค่ากว่าแสนล้านบาทและอีกหลายแสนล้านของจีน ซึ่งหากสารวัตรเกษตร มีการตรวจพบจะจับดำเนินคดีทันที กรณีที่สารวัตรเกษตรและสารวัตร GMP ตรวจพบแล้วไม่ดำเนินคดี ก็ต้องจัดการเช่นเดียวกัน ผมย้ำเตือนขอให้รองอธิบดีกำกับ และผู้อำนวยการเขตต่างๆ ถ้าลูกน้องมีพฤติกรรมเห็นแล้วไม่เตือน หรือไม่ดำเนินคดี ในฐานะอธิบดีกรมวิชาการเกษตรก็จะดำเนินคดีทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเดียวกัน โดยใช้มาตรการ 4 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่มีสวมสิทธิ์ และ4.ไม่สีไม่มีสารเคมีต้องห้าม มีเป้าหมาย “Set Zero” การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว