กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกไทย จับตาตลาดสินค้า“โปรตีนจากพืช”ในสเปน หลังผลสำรวจพบมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการบริโภคและยินดีจ่าย เหตุช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ
ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.วิชาดา ภาบรรเจิดกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้า“โปรตีนจากพืช”ของไทย เพื่อเจาะตลาดสเปน รองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยโอกาสในการทำตลาดสินค้าดังกล่าว ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลยืนยันว่า มีผลการศึกษาเรื่อง Route to the food transition โดย Louis Bonduelle Foundation ที่ระบุถึงผลการสำรวจว่า ราว 64% ของชาวสเปน ยืนยันที่จะเพิ่มการบริโภคโปรตีนจากพืชในปีนี้ ด้วยเหตุผลหลักด้านสุขภาพ 78% และความยั่งยืน 48%
เหตุผลรองลงมา ได้แก่ ราคา 26% และรสนิยม 21% โดยประชากรวัยหนุ่มสาวในยุค Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 18-28 ปี ยืนยันการบริโภคโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งเห็นได้ว่าโปรตีนจากพืชมีบทบาทสำคัญต่ออาหารของสเปนและสร้างความมั่นคงทางด้านโภชนาการและ 7 ใน 10 คน ยืนยันว่า จะเพิ่มการบริโภค“โปรตีนจากพืช” ในปีนี้ อีกทั้งจะบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นในอีก 5 ปี ข้างหน้า
นอกจากนี้ ผลการศึกษาอีกหลายสถาบัน ระบุว่า มีจำนวนผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาหารเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นต์หรือการลดแก๊สเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศและยังระบุว่าหากลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการบริโภคพืช ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจะลดลงถึง 40% สำหรับตัวชี้วัดบางตัวในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะเดียวกัน ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลอีกว่า ชาวสเปนมองว่า อาหารประจำวันควรดีต่อสุขภาพและอาหารต้องมีคุณภาพ โดยปัจจัยสำคัญเมื่อซื้ออาหาร ได้แก่ ราคา 54% คุณค่าทางโภชนาการ 50% ผลิตภัณฑ์ตามฤดูกาล 40% และโดยทั่วไปผู้บริโภคชาวสเปนจะมีความอ่อนไหวต่อราคาอาหาร แต่เมื่อผู้บริโภคซื้อพืชผักจะมองที่คุณภาพมากกว่าราคา ซึ่งในปีที่ผ่านมา ชาวสเปนราว 62% ลดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์ เนื่องจากคำนึงถึงจริยธรรม 78%
และจากผลสำรวจ ผู้บริโภคราว29% ยอมรับว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงจากเดิม รายงานการศึกษาฉบับนี้ยังกล่าวถึงชาวสเปนที่มีอายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบในการบริโภคอาหารต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-24 ปี และ 6 ใน 10 คน ของชาวสเปน เห็นว่าการรับประทานอาหารอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ
“จากทัศนคติของชาวสเปนที่ได้จากผลการสำรวจ แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในเรื่องผลกระทบในบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สะท้อนถึงพฤติกรรมและแนวโน้มตลาดและการบริโภคของชาวสเปนโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว วัยกลางคนในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะผลิตสินค้าอาหารที่มุ่งใช้วัตถุดิบโปรตีนจากพืชเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในการเข้าสู่ตลาดในระยะยาว”นายภูสิต กล่าว