นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ของประเทศ จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร
ผู้ป่วยรายที่ 2 นี้ เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติแบบรักร่วมเพศ มีอาการสงสัยป่วย เมื่อวันที่ 12 ก.ค.65 จากนั้น 2 วัน เริ่มมีไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และ 1 สัปดาห์ต่อมามีผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนขา จึงมาตรวจที่โรงพยาบาล และขณะนี้ได้รับตัวไว้รักษาและติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดไปตรวจ พร้อมทั้งเฝ้าสังเกตอาการต่อให้ครบ 21 วัน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับชายรายดังกล่าว มีประวัติอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.)โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปสอบสวนโรคแล้ว พบว่า มีผู้สัมผัสร่วมบ้าน 10 คน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาเชื้อ และให้สังเกตอาการ 21 วัน
อย่างไรก็ตาม ทีมสอบสวนโรคกำลังเร่งหาผู้สัมผัสรายอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากประชาชนที่มีสงสัยว่ามีอาการป่วยจากโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้
โรคไข้ฝีดาษลิง หรือ ไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแตเป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง”
โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น(Endemic disease) ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิต 1-10% ทั้งนี้การเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ
- สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10%
- สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1%
ระยะเวลาฟักตัวของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 7-14 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการแสดงต่างๆ ดังนี้
- มีไข้ ไข้สูง
- ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ปวดกระบอกตา
- ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย
- มีผื่น ตุ่มหนอง
หลังจากที่มีไข้มาประมาณ 3 วัน จะเข้าสู่ช่วงระยะออกผื่น โดยลักษณะผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินเวลานานประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัว
โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจาก จุดแดงๆ กลมๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และ กลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่เชื้อ ผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้หลังจากผื่นตกสะเก็ดจะทำเกิดรอยโรคหรือรอยแผลเป็นได้
หากพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อ จะต้องแยกผู้เสี่ยงติดเชื้อออกจากผู้อื่น เป็นเวลา 21 – 28 วัน จนกว่าผื่นจะตกสะเก็ด ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกันกับผู้เสี่ยงติดเชื้อ(อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน, เป็นสามีภรรยากัน, มีความสัมพันธ์กัน)ให้สังเกตอาการ และแยกตัวเองออกจากผู้อื่นเช่นเดียวกัน
โดยพบว่า ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน(ผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2523)หรือมีอายุมากกว่า 42 ปีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ น้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน 5 เท่า หรือลดโอกาสการเป็นโรคได้ 80-90%