นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกเดือนมิถุนายนและ 6เดือนแรกของปี 2565 พร้อมด้วยภาวะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนมิถุนายน 2565
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2565 มีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 907,286 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ11.9 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 และการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของการส่งออกในเดือน มิ.ย.นี้ และผลการส่งออกหกเดือนแรกเป็น +12.7% หรือ 4,945,248 ล้านบาท
โดยสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน +21.7% มูลค่า 94511 ล้านบาทหกเดือนแรกเป็นบวกถึง 9.3% มูลค่า 476,071 ล้านบาท สินค้าที่ขยายตัวสูงคือข้าว +5 เดือนต่อเนื่องโดยมิถุนายน +68.2% มูลค่า 13,130 ล้านบาท ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งเดือนมิถุนายน +39.4% หกเดือนแรก +10% มูลค่า 118,466 ล้านบาท ลำไยแห้ง +6 เดือนต่อเนื่องโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน +411.1% และหกเดือนแรกปีนี้ +95.3% เป็นเงิน 1,593 ล้านบาท เงาะสดในเดือนมิถุนายน +115.7% และ6เดือนแรก +163.6% ทุเรียนสดเดือนมิถุนายน +55.1% มูลค่า 20823 ล้านบาท 6เดือนแรก +4.2% มูลค่า 78100 ล้านบาท ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป มิถุนายน +20.1% และ6 เดือนแรก +8.3% ด้านยางพาราเดือนมิถุนายน +16.1% มูลค่า 15,669 ล้านบาทและหกเดือนแรก +4.7% มูลค่า 94,640 ล้านบาท
ด้านสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร +16 เดือนต่อเนื่องโดยเดือนมิถุนายน +28.3% มูลค่า 75,160 ล้านบาทส่วนหกเดือนแรก +27.9% มูลค่า 398,023 ล้านบาท สินค้าสำคัญคือน้ำตาลทรายที่หกเดือนแรก +138.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเดือนมิถุนายน+15.3% หกเดือนแรก +11.7% เป็นมูลค่า 62,890 ล้านบาทและสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องคืออาหารสัตว์เลี้ยง +34 เดือนต่อเนื่อง เดือนมิถุนายน +13.6% และหกเดือนแรก +23.2% เป็นมูลค่า 49,184 ล้านบาท
ด้านสินค้าอุตสาหกรรม +16 เดือนต่อเนื่อง เดือนมิถุนายน +6.7% และ6เดือนแรก +10.5% เป็นมูลค่า 3,855,864 ล้านบาท สินค้าที่ขยายตัวดีคือเครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และที่สำคัญอัญมณีและเครื่องประดับเป็น +16 เดือนต่อเนื่องมาแล้วโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน +9.1% และหกเดือนแรก +41.0% เป็นมูลค่ากว่า 128,691 ล้านล้านบาท
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดที่ขยายตัวสำคัญในเดือนมิถุนายนได้แก่เอเชียใต้+49.5% อาเซียน+35.6% แคนาดา+26.2% ตะวันออกกลาง+24.0% CLMV +19.5% ลาตินอเมริกา +17.2% เกาหลีใต้+15.7% แอฟริกา+12.1% สหรัฐอเมริกา +12.1% และ สหราชอาณาจักร +11.0% เป็นต้น การดำเนินงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยหนุนคือการใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสการส่งออกการจัดกิจกรรมโดยความร่วมมือ Mini-FTA การส่งเสริมการขายในศูนย์การค้าของต่างประเทศ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจอย่างเช่นกับซาอุดีอาระเบียในครั้งที่เยือนไทยเฉพาะตรงนั้นก็มูลค่า 11,500 ล้านบาทแล้ว
จากนั้นนายจุรินทร์ ยังได้แถลงภาวะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนมิถุนายน คือ การส่งออกเป็น +10.4% มีมูลค่า 102,242 ล้านบาทและ 6 เดือนแรกก็เป็น +1.2% รวมมูลค่า 506,827 ล้านบาท โดยเฉพาะการค้าชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา การส่งออกมีมูลค่า 57358 ล้านบาทเป็น +25.8% และหกเดือนแรกก็เป็น +18.7% ประเทศมีมาเลเซียนั้นเป็นคู่ค้าชายแดนอันดับหนึ่งของประเทศไทยโดยเดือนมิถุนายนมูลค่าการส่งออก 16,461 ล้านบาทเป็น +22.8%
ส่วนการค้าผ่านแดนคือไปจีน สิงคโปร์เวียดนาม และอื่นๆนั้น ปัจจัยหลัก คือผู้ส่งออกหันกลับไปขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศเพิ่มขึ้นหลังการแก้ปัญหาโรคระบาดและปัญหาค่าระหว่างเรือและตู้คอนเทนเนอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
ทางด้านนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกนี้สะท้อนความสามารถในการผลิตสินค้าอาหารของไทยป้อนสู่ตลาดโลก และสอดรับนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิตโลก สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24 สำหรับด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อาเซียน สหภาพยุโรป และตลาดรอง ได้แก่ เอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา
ทั้งนี้ การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 12.7 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยขยายตัวร้อยละ 9.0
มูลค่าการค้ารวม มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน