กรมวิชาการเกษตร จัดยิ่งใหญ่ งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคใต้ตอนบน ประจำปี 2568 “สุราษฎร์ธานีโมเดล : นวัตกรรมก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล เกษตรใต้มั่นคง”

822355

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อที่จะนำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ภาคการเกษตรของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 รมว.เกษตร ได้มอบหมายให้ นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตพืชภาคใต้ตอนบน ประจำปี 2568 “สุราษฎร์ธานีโมเดล : นวัตกรรมก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล เกษตรใต้มั่นคง” โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวรายงาน และรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายบันดาล สถิรชวาล กล่าวต้อนรับ มีการมอบรางวัล เกษตรกร GAP เกษตรกรพืชอินทรีย์ดีเด่น ประจำปี 2568 และมอบปัจจัยการผลิตแก่ตัวแทนเกษตรกร จำนวน 5 ราย ณ สหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

822327

กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตพืชภาคใต้ตอนบน ประจำปี 2568 ”สุราษฎร์ธานีโมเดล : นวัตกรรมก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล เกษตรใต้มั่นคง เพื่อขับเคลื่อนผลสำเร็จจากงานวิจัย และนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สกสว. สู่เกษตรกร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มะพร้าว และยางพารา

822330

ภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างครบวงจรได้แก่

  • ปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย การปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน พันธุ์ปาล์มน้ำมัน การผลิตต้นกล้า การจำแนกต้นกล้า การจดทะเบียนและแปลงเพาะกล้าพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมัน  การปลูกพืชร่วมพืชแซมในสวนปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิต การฟื้นฟูปาล์มน้ำมันหลังประสบภัยน้ำท่วม การจัดการธาตุอาหาร การวิเคราะห์ธาตุอาหารในใบปาล์มน้ำมัน และการใช้แผ่นเทียบสีประเมินความต้องการธาตุอาหารของปาล์มน้ำมัน
  • ทุเรียน ประกอบด้วย พันธุ์ทุเรียน เทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพ การฟื้นฟูทุเรียนหลังประสบภัยน้ำท่วม การขยายพันธุ์ทุเรียนโดยการเสียบยอด การตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง(ทุเรียนอ่อนแก่) และการใช้สารชุบผลทุเรียนป้องกันโรคผลเน่าทุเรียน การส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ (จีน)
  • มะพร้าว ประกอบด้วย พันธุ์มะพร้าว (พันธุ์รับรองและพันธุ์แนะนำ) เทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวให้ได้คุณภาพ มาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก (Monkey Free Plus) งานด้านวิศวกรรมการเกษตร เช่นไม้สอยมะพร้าว เครื่องปีนต้นมะพร้าว การจัดการโรคและแมลง การจัดการศัตรูมะพร้าวโดยชีววิธี และการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว
  • ยางพารา ประกอบด้วย กฎระเบียบของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปลอดจากการทำลายป่า (EUDR) คาร์บอนเครดิตและการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของยางพารา ไม้ยืนต้น และการขอรับรองคาร์บอนเครดิต
822333

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการและขยายผลโครงการ “สุราษฎร์ธานีโมเดล” ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วประเทศได้นำไปใช้ประโยชน์ด้วยการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ และต่อยอดไปยังผู้อื่นได้ เกษตรกรเกิดทักษะและความรู้ ทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น มีคุณภาพ มูลค่าของสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนและประเทศมีเศรษฐกิจเข็มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ภายใต้หลักการ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” นอกจากนี้ภายในงานยังมีงานบริการวิชาการ ได้แก่ การรับสมัครรับรองแหล่งผลิต GAP พืช มาตรฐานการผลิตพืชส่งออก การตรวจวิเคราะห์ดิน น้ำ พืช (ใบ) การเลือกซื้อปัจจัยการผลิต และการออกใบอนุญาต  การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานเครือข่ายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เครือข่ายเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่นพันธุ์พืชรับรองของกรมวิชาการเกษตร ชีวภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 500 คน

822335
822341
822342
822343
822344
822345