นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ “สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด” พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายธวัชชัย เลี้ยงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร นายนิพล จันทร์เพ็ญ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ว่า
รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาภาคการเกษตร อาทิ โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม โดยสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดและเครื่องจักรกลการเกษตร การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการขยายและเข้าถึงตลาดในรูปแบบต่าง ๆ
การพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรที่มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม การพัฒนาองค์กร เกษตรกร และเกษตรกรรุ่นใหม่ ตามโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร โดยเพิ่มทักษะการประกอบการและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต ให้กับเกษตรกร โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายสินค้าแผนงานและโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูพัฒนา และยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด มีธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรซึ่งสหกรณ์รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ณ ตลาดกลางของสหกรณ์ จำนวน 2 แห่ง แต่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และปัญหาสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้สนับสนุนเงินงบประมาณในการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด โดยในปี 2560 – 2564 ที่ผ่านมา สหกรณ์ได้รับเงินอุดหนุนอุปกรณ์การตลาดจากรัฐบาล จำนวน 7 รายการ ประกอบด้วย ลานตากขนาด 4,000 ตารางเมตร ฉาง 2 หลัง ขนาดรวม 2,500 ตัน โรงคลุม พร้อมเครื่องชั่งขนาด 50 ตัน รถตักขนาด 220 แรงม้า 1 คัน และรถโฟล์คลิฟ ขนาด 3.5 ตัน 1 คัน โดยรัฐบาลอุดหนุน รวม 9,830,490 บาท สหกรณ์สมทบรวม 2,648,010 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 12,478,500 บาท ซึ่งจากการผลักดันเงินงบประมาณดังกล่าว ทำให้สหกรณ์สามารถช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำได้อย่างทั่วถึง โดยในปัจจุบันปีการผลิต 2564/65 สหกรณ์สามารถรวบรวมข้าวเปลือกได้ปริมาณรวม 91,000 ตัน รวมมูลค่า 675 ล้านบาท
สำหรับ สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2513 เป็นสหกรณ์การเกษตร ชนิด “ไม่จำกัด” ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ชนิด “จำกัด” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2514และได้ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 52 ปี ปัจจุบันมีทุนดำเนินงาน 854 ล้านบาท มีสมาชิก จำนวน 1,007 ราย สหกรณ์ดำเนินธุรกิจให้บริการสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ประกอบด้วย ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ธุรกิจผลิตน้ำดื่ม และธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งปีบัญชีล่าสุดสหกรณ์มีปริมาณธุรกิจทั้งสิ้น 716 ล้านบาท
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเงินอุดหนุนชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดพิจิตร ตามโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สิน และมอบอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้แก่ สถาบันเกษตรกร 9 แห่ง วงเงินรวมกว่า 59,267,000 ล้านบาท
ได้แก่ 1. สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด รวม 12,478,500 บาท 2. สหกรณ์การเกษตรทับคล้อ จำกัด 4,760,838 บาท 3. สหกรณ์การเกษตรตะพานหนิ จำกัด รวม 3,300,000 บาท 4. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรพิจิตร จำกัด รวม 14,443,200 บาท 5. สหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน จำกัด รวม 2,412,000 บาท 6. สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด รวม 7,369,817 บาท 7. สหกรณ์การเกษตรเมืองพิจิตร จำกัด รวม 2,660,000 บาท 8. สหกรณ์การเกษตรสามง่าม จำกัด รวม 2,750,000 บาท และ 9. สหกรณ์ชาวนาวชิรบารมี จำกัด รวม 2,052,500 บาท รวมทั้งมอบเงินอุดหนุนชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดพิจิตร รวม 8,362,314 บาท
นอกจากนี้ได้มอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว กิ่งพันธุ์มะนาวแป้นพิจิตร และต้นกล้ากัญชา แก่สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรทั่วไปที่ลงทะเบียน และผู้แทนสหกรณ์ที่เข้าร่วม ตลอดจน คิกออฟเปิดโครงการ “คลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่ ตลาดนำการวิจัย ” ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และเยี่ยมชมบูธจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเยี่ยมชมผลผลิตการเกษตรจากสมาชิกในโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ อาทิ การปลูกกัญชา ถ่านดูดกลิ่น ถ่านอัดแท่ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถ่านไม้ไผ่ ภายใต้แบรนด์ ชาโคลไลค์ ผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ กิ่งพันธุ์และผลฝรั่ง ตะขบป่า การเลี้ยงปลาดุก ปลาทับทิม การปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว เป็นต้น