นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ดำเนินการพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิตขนาดใหญ่โดยการต่อยอดทรัพยากรต้นทุนเดิมจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา สู่ “ห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่” มุ่งเน้นการเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความเข้าใจใน 3 ด้าน ดังนี้ 1) โครงการพระราชดําริ โครงการหลวง และการพัฒนาพื้นที่สูง 2) ความหลากหลายทางชีวภาพและการเกษตร และ 3) ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งตั้งเป้าหมายให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการศึกษาวิจัยการบริการจัดการพื้นที่เข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และมีการดําเนินงานด้านสวนพฤกษศาสตร์เทียบเท่าในระดับสากล
“กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนภารกิจเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเอาจริงเอาจัง โดยให้ความสำคัญกับปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นหลักในการวางแผนการดำเนินงาน อาทิ ด้านทรัพยากรดินและน้ำ ด้านปัจจัยการผลิต และด้านอื่น ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดอย่างแท้จริง อีกทั้งร่วมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการแปลงเกษตร โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการต่อยอดพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป” รมช.อัครา กล่าว
ในโอกาสนี้ รมช.อัครา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรในรูปแบบบูรณาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรทั้งระบบ อาทิ 1) โครงการแก้ไขปัญหาการเผา ฝุ่นควัน และ PM 2.5 บนพื้นที่สูง โดยการส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรบนพื้นที่สูงภายใต้ระบบการผลิตและวิถีเกษตรกรรมที่มีความสมดุลทั้งด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการใช้หลักการตลาดนําการผลิต 2) โครงการแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายหน้าดินบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน โดยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางธรณีวิทยา เพื่อการบริหารจัดการที่ดินทํากินและพื้นที่ป่าให้มีความเหมาะสม และ 3) โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนระบบการเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูง โดย สวพส. จัดทําโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนสัญญาณอินเตอร์เน็ตสู่การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้บนพื้นที่สูงให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ภายใต้กรอบโครงการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตรและการต่อยอดพืชเศรษฐกิจในพื้นที่สูง เกิดความก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว