“รมว.นฤมล” พร้อมจับมือทุกหน่วยงานร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดลงให้ได้ เน้นสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา หันมาทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

S 9994274

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงาน ”Kick Off มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร“ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ถึงการปฏิบัติงานตามแนวทางขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง และการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมทองกวาว สำนักบริการวิชากา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ด้วยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาสำคัญในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน และมีแนวโนมเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงปัญหา และพร้อมรับนโยบายรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การเร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่การเกษตร โดยมุ่งเน้นการวางแนวทางให้ชัดเจน และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีพื้นที่การเกษตรเป็นเป้าหมายสำคัญในการบริหารจัดการ รวมถึงการเตรียมรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก และการบริหารจัดการในพื้นที่การเกษตรต้องคำนึงถึงการรองรับการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    

S 9994276

“รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ในวันนี้จึงได้มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ประชาสัมพันธ์ สร้างการตระหนักรู้ให้เกษตรกรหยุดเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มข้น อีกทั้ง ต้องไม่เป็นการบังคับเกษตรกร แต่ต้องสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรแบบไม่เผา อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูง หรือสร้างช่องทางการจัดจําหน่ายให้ได้ราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป ดังนั้น จึงต้องร่วมกับหน่วยงาน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีให้ให้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน” ศ.ดร.นฤมล กล่าว

     

S 9994277

ศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวถึงปัญหาหมอกควันที่มาจากต่างประเทศว่า ได้มีการเจรจาหารือกันในระดับรัฐบาล เพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านให้ลดการเผา รวมถึงให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 โดยวันนี้ รมช.อิทธิ จะขึ้นบินสำรวจสภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งติดตามการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และจะนำไปขยายในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

     

S 9994278

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้ข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) จาก GISTDA ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การเผาในพื้นที่เกษตร ของประเทศไทยจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 พบจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เกษตร ในประเทศไทยจำนวน 3,255 จุด จากเดิมปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 3,647 จุด พบว่าลดลง จำนวน 392 จุด คิดเป็นร้อยละ 10.75 สำหรับผลการดำเนินงานบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปี 2567 รายพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ไม้ยืนต้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2567 มีปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมดประมาณ 48.6 ล้านตัน นำไปใช้แล้วประมาณ 33.54 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 69 เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.2 พันล้านบาท

     

S 9994280

ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับปี 2568 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับนโยบายและวางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฯ ดังนี้

 1. จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกรายชนิดของพืชเกษตร ที่เสี่ยงต่อการเผา

  2. จัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทาง 3R โมเดล ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยเน้นหนักในพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้หรือที่มีสถิติการเผาไหม้ซ้ำซาก

    

3. จัดทำฐานข้อมูลการประเมินวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยใช้ฐานจากข้อมูลเดิมหรือฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร

    

4. วิเคราะห์การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อุปสงค์ อุปทาน และศักยภาพ ในการบริหารจัดการตลาดห่วงโซ่อุปทาน ประสานขอความร่วมมือการขับเคลื่อนงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

    

5. ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผลการดำเนินงานและสรุปผลจากพื้นที่ที่สำเร็จในการบริหารจัดการในทุกเวที 
ที่เกี่ยวข้อง

    

6. ร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุน มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน

      

7. จัดทำประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟ เช่น พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่สูง พื้นที่ที่ต้องการกำจัดศัตรูพืช ในช่วงตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน – 15 พฤษภาคม 2568 ผ่านระบบ Application FireD หรือ Burn Check และกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเพื่อควบคุมกำกับดูแลการเผา

 

8. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ สร้างความเข้าใจในระดับหมู่บ้าน โดยใช้ข้อมูลเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม จุดความร้อนร่องรอยการเผาไหม้ปีที่ผ่านมา หรือจากการประเมินพื้นที่เสี่ยงที่ไม่สามารถบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ โดยแบ่งการดำเนินงานให้สอดคล้องตามช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต

S 9994281
S 9994282
S 9994283
S 9994284