นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (COP29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคีสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ซึ่ง สศก. ได้ส่งผู้แทนร่วมประชุม COP29 ดังกล่าวระหว่างวันที่ 11 – 16 พฤศจิกายน 2567โดยมีประเทศอาเซอร์ไบจานเป็นเจ้าภาพ และภาคีสมาชิกกว่า 200 ประเทศเข้าร่วม
ประเด็นหารือด้านการเกษตร คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Sharm el-Sheikh joint work on implementation of climate action on agriculture and food security ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 61 (SBSTA 61) และการประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงานครั้งที่ 61 (SBI 61) โดยภาคีสมาชิกได้หารือและมี ฉันทามติแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาเว็บไซต์ ชาร์ม เอล เชค (Sharm el-Sheikh online portal) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มโอกาสในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร รวมถึงเป็นช่องทางในการขอสนับสนุนทางการเงิน ทั้งจากภาคีสมาชิกด้วยกันและภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือ การเตรียมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรและความมั่นคงอาหาร ในช่วงของการประชุมองค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2568 ด้วย
สำหรับการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเตรียมการรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร และเสริมสร้างภาคเกษตรไทยให้มีสมรรถนะและภูมิคุ้มกันต่่อการเปลี่่ยนแปลงสภาพภููมิอากาศ โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อเว็บไซต์ชาร์ม เอล เชค พัฒนาเรียบร้อยแล้ว จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาคการเกษตรให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไทยจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล/โครงการต่างๆ ที่สำคัญผ่านเว็บไซต์ร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรและความมั่นคงอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานร่วมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรและความมั่นคงอาหาร หรือ Sharm el-Sheikh joint work on implementation of climate action on agriculture and food security เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคเกษตรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคีสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นข้อมติจากการประชุม COP27 ปี 2565 ที่กำหนดให้ภาคีสมาชิกหารือเพื่อพัฒนาเว็บไซต์และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อภาคเกษตรสามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืนและมีส่วนในการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารของโลก และจะสรุปผลลัพธ์ของการดำเนินงานตามแผนในการประชุม COP31 ปี 2569 ต่อไป