วันนี้ (14 พ.ย. 67) ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล — ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 2/2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมาย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแทนในการประชุม กนย.โดยมีมติเห็นชอบขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร
เพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อมุ่งพัฒนาธุรกิจยางควบคู่กับเสริมสภาพคล่องในการบริหารจัดการยางทั้งระบบ พร้อมขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพฯโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ ต่อ 2 ปี มอบหมาย กยท. เร่งเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่าโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งผลการดำเนินงานในระยะที่ 3 (ฤดูกาลผลิตปี 2563 – 31 มี.ค. 2567) มีสถาบันเกษตรกรได้เบิกเงินกู้จริงจาก ธ.ก.ส. แล้ว 376 แห่ง รวมเป็นเงิน 17,415.022 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือให้สามารถยื่นขอกู้ได้อีก 8,789.964 ล้านบาท ซึ่งการประชุม กนย. ในวันนี้ มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาออกไปอีก 4 ปี (ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2567 – 31 มี.ค. 2571) เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับสถาบันเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อและจำหน่ายยางพาราซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างโอกาสพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจด้านยางพารา ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวการณ์ราคายางตกต่ำหรือราคาที่สูงขึ้น ถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรชาวสวนยางให้มีแหล่งขายยางพาราในระดับท้องถิ่น ดังนั้นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์กับสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างมาก
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุม กนย. ยังมีมติเห็นชอบ ขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ออกไป 2 ปี ( ตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2568) พร้อมทั้งขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการสร้างมูลภัณฑ์ฯ เพื่อให้ กยท. สามารถระบายยางในสต๊อกให้แล้วเสร็จพร้อมกันภายในปี 2568 กรณีไม่ทันตามกำหนดเวลา ให้นำเสนอเพื่อผ่านความเห็นชอบใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ที่ประชุม กนย. ได้มอบหมายให้ กยท. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดทุกโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
“กยท. มั่นใจว่า การขับเคลื่อนโครงการทั้งหมดนี้ จะเป็นการช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรฯเพิ่มโอกาสและยกระดับศักยภาพ เสริมสภาพคล่อง สร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันให้สามารถดำเนินธุรกิจยางพาราได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนายางพาราทั้งระบบต่อไป” นายสุขทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย