กยท.เตรียมจัดใหญ่โครงการ ‘รวมใจภักดิ์ หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติฯ’จัดเต็มนวัตกรรมยางพารา ลดต้นทุนการผลิต ชูต้นแบบสวนยางอารยเกษตร น้อมนำศาสตร์พระราชาอย่างยั่งยืน

การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เตรียมจัด โครงการรวมใจภักดิ์ หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์วิจัยยางหนองคายและสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดหนองคาย เปิดพื้นที่โชว์สวนยางอารยเกษตร-นิทรรศการนวัตกรรมด้านยางพารา มุ่งสนับสนุนการทำสวนยางที่ลดต้นทุน ไปพร้อมกับการเพิ่มปริมาณผลผลิตยางให้แก่ชาวสวนยางอย่างเป็นรูปธรรม

ภาพกยท2

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. เตรียมจัดพิธีเปิด “โครงการรวมใจภักดิ์ หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ซึ่งเป็น 1 ใน 19 โครงการที่หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดขึ้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวมถึงให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและทุกภาคส่วน ได้ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยงานในครั้งนี้ได้เชิญ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานที่จะจัดงานขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์วิจัยยางหนองคายและสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดหนองคาย โดย กยท. จะชู ‘สวนยางอารยเกษตร’ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงสาธิตต้นแบบแหล่งเรียนรู้ในการจัดการสวนยางจำลองการใช้พื้นที่สวนยางอย่างเต็มประสิทธิภาพที่น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถเรียนรู้การสร้างรายได้ระหว่างรอยางเปิดกรีดเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รับรายได้เสริมจากการทำเกษตรชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ของตนเอง นอกเหนือจากการปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวชนิดเดียว

ภาพกยท6

นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน กยท. ยังได้นำนวัตกรรมยางพาราที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตและอำนวยความสะดวกการจัดการภายในสวนยางมาจัดแสดง ได้แก่ เครื่องสกัดน้ำมันจากชิ้นส่วนยางที่เหลือจากการแปรรูป (เศษยาง, ขี้ยาง) เป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างพลังงานทดแทน รวมถึงจะนำหุ่นยนต์กรีดยางเข้ามาจัดแสดงโชว์กรีดยางแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตยางและลดต้นทุนการบริหารจัดการการเก็บเกี่ยวผลผลิตยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กยท. เตรียมแจกพันธุ์ยาง RRIT 3904 จำนวน 777 ต้น ให้กับผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ซึ่งเป็นพันธุ์ยางที่คิดค้นและพัฒนาโดยสถาบันวิจัยยาง กยท. โดยพันธุ์ยางดังกล่าวมีความต้านทานต่อโรคทางใบและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในปริมาณที่มากขึ้น

ภาพกยท4

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบโฉนดต้นยางให้กับเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 20 ราย เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ และจัดโซนนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน

ภาพกยท7
ภาพกยท3
ภาพกยท5
ภาพกยท10
ภาพกยท9
ภาพกยท8