นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือนายโยอิจิ วาตานาเบะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น พร้อมรับมอบประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สับปะรดห้วยมุ่น ผลไม้ไทยรายการแรกที่ได้รับ GI ในญี่ปุ่นและได้เยี่ยมชมตลาดค้าส่งสินค้า ผักผลไม้ ดอกไม้ และอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เป็นที่น่ายินดีที่ญี่ปุ่นประกาศรับขึ้นทะเบียน GI สับปะรดห้วยมุ่นเป็นตัวที่ 3 ต่อจากกาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุงภายใต้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนการขึ้นทะเบียน GI 3 + 3 ซึ่งเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของสินค้าดังกล่าว ได้เป็นอย่างดี ด้วยสับปะรดห้วยมุ่นเป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่มีชื่อเสียง มีจุดเด่นในเรื่องของเนื้อสีน้ำผึ้ง หนานุ่ม รสชาติหวานหอม และยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้สับปะรดห้วยมุ่นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นและเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยไทยมีผู้ประกอบการกว่า 850 ราย มีกำลังการผลิตกว่า 180,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าการตลาดรวมกว่า 1,200 ล้านบาท จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งเดินหน้าสานต่อความร่วมมือในระยะที่ 2 เพื่อขยายตลาด GI ไทย ในญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้หารือกับทางญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ร่วมกันต่อไป”
ตลาดสินค้าสับปะรดในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นนิยม รับประทานสับปะรดสดที่มีรสชาติ หวานฉ่ำ มีปริมาณการบริโภคของคนในประเทศ ปีละไม่ต่ำกว่า 180,000 ตัน รวมถึงสินค้าสับปะรดแปรรูป เช่น น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง และสับปะรดอบแห้ง แต่เนื่องจาก สภาพภูมิอากาศในประเทศญี่ปุ่นไม่เหมาะกับการปลูกสับปะรด จึงมีการนำเข้าจากประเทศต่างๆ จำนวนมากโดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญที่ส่งออกสับปะรดมากเป็นอันดับ 4 รองจากฟิลิปปินส์ คอสตาริกาและอินโดนีเซีย ทั้งนี้มีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่ใช้เจรจาสิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มเติมให้กับสินค้าเกษตรรวมถึงสับปะรดจากไทย
นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในครั้งนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมตลาดขายส่งโอตะ (OTA Wholesale Market) ซึ่งเป็นตลาดขายส่งผักผลไม้ ดอกไม้ และอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่นมีเงินหมุนเวียนในการซื้อขายกว่า 500 ล้านบาทต่อวัน เพื่อศึกษาการบริหารจัดการพื้นที่ กระบวนการประมูล สินค้าเกษตร และระบบการค้าส่งและโลจิสติกส์ และนำมาพัฒนาการทำตลาดกลางสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมกับเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย และผู้ค้าปลีกค้าส่งในไทย อีกทั้งยังเป็นการสำรวจช่องทางขยายตลาดผักผลไม้ไทยสู่ญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น”