“บ้านปูนา อ่องปูนา” ผลงานของ ทีม “ในน้ำมีปลา ในนามีปู” คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้ารางวัล ชนะเลิศ ประเภท “กินดี” Best of the Best ระดับประเทศ ในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารออมสินที่เปิดเวทีในนักศึกษาได้เรียนรู้ บูรณาการพัฒนาร่วมกับชุมชน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืน โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั่วประเทศกว่า 67 สถาบันการศึกษา ทั้งนี้ ได้เข้ารับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี
ทีม “ในน้ำมีปลา ในนามีปู” เป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ได้แก่ นางสาวไอยเรศ เสาร์คำ , นายสรวิชญ์ จันทร์แดง , นางสาวไอซามี พงษ์จิระสกุลชัย , นางสาวเกวลิน กรแก้ว นางสาวภัสสิรา สิงห์อูป โดยมี อาจารย์ ดร.นงพงา แสงเจริญ , ผศ.ดร.ดารชาต์ เทียมเมือง และอาจารย์ ดร.วาธิณี อินทรพงษ์นุวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
“บ้านปูนา อ่องปูนา” เป็นการทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูนาสันทราย ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยนำความรู้มาศึกษาปัญหาเดิมของกลุ่มฯ ปรับปรุงพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ “อ่องปูนา แท้ 100 % สดใหม่ ส่งตรงจากฟาร์ม” ตามความต้องการของกลุ่มฯ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์อ่องปูนาให้มีอายุการเก็บนาน 1 ปี ในอุณหภูมิห้อง ทำให้อ่องปูนาซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือเป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถแข่งกับสินค้าอื่นๆ ได้ เพิ่มมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่สนใจ สะดวกต่อการรับประทาน และสามารถจัดจำหน่ายใน modern trade ได้ เป็นการส่งเสริมผลักดันให้มีคนในพื้นที่ได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ลดปัญหาแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองหลวง และผลสุดท้ายคือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน ผศ. ดร.อรพินธุ์ สฤษดิ์นำ ผู้รับผิดชอบโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “จากการเข้าร่วมโครงการฯ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เห็นได้ว่า นักศึกษาเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศต่อเนื่อง 3 ปี ซ้อน คือ
ปี 2565 ทีม เด็กโจ้อาสา พัฒนาธุรกิจชุมชน “น้ำพริกหมูฝอย” ประเภทกินดี คณะเศรษฐศาสตร์
ปี 2566 ทีม ไพรรภัจน์ “สมุนไพรเพื่อสุขภาพ” ประเภทใช้ดี คณะผลิตกรรมการเกษตร
ปี 2567 ทีม ในน้ำมีปลา ในนามีปู “บ้านปูนา อ่องปูนา” ประเภท กินดี คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ
ถือเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ตามบริบทของแต่ละคณะ ที่มุ่งหวังจะพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน กลุ่มอาชีพในชุมชน ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง เติบโตและยั่งยืน”