กมธ.เกษตรฯจ่อสอบกรมศุลกากร ปมองุ่นไชน์มัสแคทนำเข้า พบสารเคมีต้องห้าม แนะ กระทรวงเกษตรฯ และ อย.บูรณาการร่วมกัน ตรวจสอบผักและผลไม้นำเข้า

8d8fe4d0f92695a8e4406765b2228335IMG 5905

นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร และคณะฯ แถลงข่าวปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในองุ่นไชน์มัสแคท ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)โดยคณะกรรมาธิการเห็นว่า ปัจจุบันภาคส่วนราชการยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น ในระยะเร่งด่วน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องรีบตรวจสอบการพบสารเคมีตกค้างดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน และต้องทำความเข้าใจให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจ

นายณรงเดช กล่าวว่า ในเรื่องการนำเข้าที่มีภาคประชาชนทำการตรวจสอบ และพบว่ามีสารพิษตกค้างที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทาง กมธ.จะทำเรื่องสอบถามไปยังกรมศุลกากร ว่าการนำเข้าองุ่นดังกล่าวมีปริมาณการนำเข้าเท่าไหร่ รวมถึงการขนส่งผ่านช่องทางไหน และตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าด่านที่มีการนำเข้าได้มีการตรวจสอบสินค้า สุ่มตัวอย่าง และมีเอกสารครบถ้วนถูกต้องหรือไม่

S 49455141 0

นายณรงเดช กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ของ กมธ.เกษตร การนำเข้าสินค้าเกษตรหลายรายการถึงแม้ว่าจะมีการรายงานว่าสุ่มเก็บตัวอย่าง แต่ก็เป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างที่น้อยมาก บางครั้งเป็นการตรวจสอบแค่เอกสารเท่านั้น หรือบางกรณีปล่อยสินค้าไปก่อนที่ผลตรวจจะออกมา ขณะนี้สิ่งที่เราไม่สามารถทำได้เลยคือการตรวจสอบติดตามว่าองุ่นถูกนำไปจำหน่ายที่ไหนบ้าง จะเห็นว่ามีการจำหน่ายตามริมทาง ในกรณีนี้เราก็จะสอบถามไปทาง อย.ว่ากระบวนการในการตรวจสอบเป็นอย่างไร จะมีกระบวนการตรวจสอบ ติดตามอย่างไรให้นำองุ่น ที่มีสารตกค้างออกจากตลาดไม่ให้ถึงมือผู้บริโภค

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นควรต้องมีการแจ้งเตือนไปยังประเทศนำเข้าด้วย ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะผู้ประกอบการนำเข้าตาม พ.ร.บ.อาหาร อีกทั้ง ควรเดินหน้าตรวจจับสารเคมีตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทที่นำเข้ามาวางขายในท้องตลาดและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั้งในล็อตที่ผ่านมาและที่นำเข้ามาในขณะนี้อย่างโปร่งใส คณะกรรมการอาหารและยาต้องมีความพร้อมและเข้มงวดในการตรวจผักและผลไม้นำเข้าก่อนการวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะความพร้อมด้านเครื่องมือและเทคโนโลยีในการตรวจสอบ และด้านบุคคลากร เพื่อสามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนบทบาทของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า เป็นปัญหาด้านกฎหมาย ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรต้องบริหารจัดการทั้งระบบในสินค้าเกษตรตั้งแต่การผลิตจนถึงการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง แต่กลับเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการบริหารจัดการสารเคมีทางการเกษตร ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย และการตรวจสอบสารเคมีตกค้างกลับอยู่ในภารกิจของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตาม พ.ร.บ. อาหาร

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมาบูรณาการร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้การตรวจสอบผักและผลไม้นำเข้า ในเรื่องของศัตรูพืชซึ่งเป็นภารกิจของกรมวิชาการเกษตร และการตรวจสอบสารเคมีตกค้างซึ่งเป็นภารกิจของ อย. ให้สามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมากส่วนในระยะยาว จำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างทางกฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกที่เข้มงวดในการดำเนินการสำหรับเรื่องดังกล่าว 
   

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการ อาจจะต้องมีการติดตาม และได้ประชุมหารือกับกระทรวงเกษตรในเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยทาง กมธ.มองว่าเป็นการเอาเปรียบเกษตรกร โดยเราจะตรวจสอบติดตามว่ามีการดำเนินการตามระเบียบหรือไม่ และมีช่องโหว่จุดไหนเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้