ม.มหิดล-ม.เกษตรฯ-ม.พะเยา-INRAE วิจัยสารสกัดสมุนไพรกำจัดหนอนกระทู้ หวังขยายผลช่วยเกษตรชุมชน

ในช่วงของการเป็นหนอนแมลงโดยทั่วไปจะต้องกินอาหารในปริมาณมากก่อนหยุดกินเมื่อกลายเป็นดักแด้ จนอาจส่งผลให้ได้ผลิตผลทางการเกษตรที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งหากเกิดเพียงเล็กน้อย อาจยังคงทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพพึงพอใจ เนื่องจากลักษณะของใบพืชผักที่ถูกหนอนกัดกินจนเป็นรู และเว้าแหว่งเพียงเล็กน้อย อาจหมายถึงที่มาจาก “แปลงผักปลอดสารเคมี”

แต่หากเกิดเป็น “การแพร่ระบาด” ของ “หนอนกระทู้ผัก” (Spodoptera litura) ที่มีเป็นจำนวนมากจนเกินไป อาจหมายถึง “น้ำตาของเกษตรกร” ที่ต้องพบกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ

S 9338999

รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ นพเสถียร อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานนวัตกรรมทางการเกษตรกำจัดหนอนกระทู้ผัก (Common Cutworm) ที่ยังคงคุณค่าของ “แปลงผักปลอดสารเคมี“ จากสารกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากการสกัดพืชสมุนไพรในท้องถิ่น

S 9339000

โดยได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสารวิชาการนานาชาติ “Pest Management Science” จากการวิจัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยโกตดาซูร์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายใต้ทุน Franco – Thai สนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

S 9339001

เพื่อ “ซับน้ำตา” ชาวสวนผักกะหล่ำปี ชาวไร่ฝ้าย ชาวไร่ข้าวโพด รวมทั้งชาวนา ฯลฯ ที่ต้องเสียหายจากกองทัพ “หนอนกระทู้ผัก” ที่ทำลายพืชผลโดยไม่ทันตั้งตัว ด้วยวิธีการที่ทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนทดลองสกัดสารจากสมุนไพรในท้องถิ่น 2 ชนิด ได้แก่ “ผักหวานป่า” (Melientha suavis) “ว่านน้ำ” (Acrorus calamus) ตามลำดับ

ซึ่งในลำดับแรกที่ปรากฏผลแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ ได้แก่ “ผักหวานป่า” ซึ่งได้นำมาสกัดด้วย “เมธานอล” (Methanol) จนได้สาร “คริสเซอริอัล” (Chrisoeriol) ที่ให้ความเผ็ดร้อน แล้วจึงนำมาทดสอบกำจัดหนอนกระทู้ผัก ทั้งด้วยวิธีการฉีดพ่นที่หนอนกระทู้ผักโดยตรง และใช้จุ่มอาหารหนอนกระทู้ผัก ในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน พบว่าสามารถกำจัดหนอนกระทู้ผักได้ดีมาก

อย่างไรก็ดี ผลการทดลองไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืช ทีมวิจัยยังได้มุ่งศึกษาถึง “ความปลอดภัย” จาก “การเป็นพิษต่อมนุษย์” ด้วย

และจะมีการนำสารสกัด “คริสเซอริอัล” ไปทดสอบต่อใน ”ปลาซิว“ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเช่นเดียวกับมนุษย์ ตลอดจนยังได้ทดสอบ “การดื้อยา” จากหนอนกระทู้ผักที่รอดชีวิตจากการทดสอบมาศึกษาผลระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามเป้าหมาย SDG13 แห่งสหประชาชาติ ที่รอการค้นพบผลกระทบที่อาจเกิดเป็นการดื้อยาของหนอนกระทู้ผักต่อไปอีกด้วย

ทีมวิจัยพร้อมมอบองค์ความรู้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยไม่ได้มุ่งหวังสู่เชิงพาณิชย์เป็นหลัก เช่นเดียวกับการทดลองที่ขยายผลสู่การทดลองกับสารสกัดจากพืชสมุนไพร “ว่านน้ำ” (Calamus Root) และ “สะค้าน” (Piper Interruptum Opiz) ในก้าวต่อๆ ไป ก่อนที่จะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อประโยชน์ในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป