นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบาย ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศ สู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของโลก ซึ่งในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบเกษตรอาหาร: การทำความเข้าใจระบบการวัดผล การรายงานและการทวนสอบ และการเตรียมการสำหรับการประชุม COP29” (Climate Transparency in Agrifood System: Understanding MRV systems and COP29 preparation) ซึ่งการประชุมนี้ กรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าภาพร่วมกับ FAO, ASEAN Sec และ MAFF (กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น) ณ โรงแรม Four Points by Sheraton เพลินจิต กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้แสดงความยินดีที่มีการขับเคลื่อนเรื่องระบบ MRV เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งได้กล่าวถึงการดำเนินงานของ กรมวิชาการเกษตรด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญ ทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการเผาในภาคเกษตรตามนโยบาย 3R ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การดำเนินการเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจหลัก และการพัฒนาหน่วยงานเพื่อเป็นหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิต ภายใต้มาตรฐานของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมุ่งเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร โดยมีหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญเรื่องการปรับแต่งจีโนม ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่เป็นพืช GMOs ไม่มีการตัดต่อ DNA จากสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งในผลิตภัณฑ์สุดท้ายไม่มี DNA แปลกปลอมจากสิ่งมีชีวิตอื่น จึงมีศักยภาพที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต เพื่อรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการระบาดของโรค แมลง ศัตรูพืชอุบัติใหม่ ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยี รวมถึงประเทศต่างๆ ให้การยอมรับและสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงนี้
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรมีบทบาทสำคัญในฐานะประธาน ASEAN Climate Resilience Network (ASEAN-CRN) และจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี ASEAN-CRN ในเดือนมกราคม ปี 2568
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวต่อว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 ตุลาคม 2567 ณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับระบบ MRV ในระบบเกษตรอาหารสำหรับการรายงานของประเทศ และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) รวมทั้ง MRV สำหรับการจัดการโครงการ และการใช้ประโยชน์ และ (2) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า จากการประชุมในครั้งนี้ นอกจากกรมวิชาการเกษตร จะร่วมเตรียมการในประเด็นการเจรจาต่อรองภาคเกษตรร่วมกับสมาชิกภูมิภาคอาเซียน – แปซิฟิก สำหรับการประชุม COP 29 ที่จะมาถึงแล้ว ยังใช้แนวทางสำหรับขับเคลื่อนต้นแบบการผลิตพืชคาร์บอนต่ำของประเทศไทย หรือต้นแบบการผลิตพืชที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานที่ได้คุณภาพ (GAP) ในการลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ของสมาชิกภูมิภาคอาเซียน – แปซิฟิก อีกด้วย สอดรับกับ นโยบาย ของ รมว.เกษตร ในการขับเคลื่อน ในการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของประเทศ สู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของโลก