นางสาวรัชตา วุฒิกิจเจริญ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นฟาร์มตัวอย่างให้ทั้งผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ ดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนเอง โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ และ สศท.10 เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามผลการดำเนินงาน และเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบ กระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว
โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ดำเนินการในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี บนพื้นที่จำนวน 82 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา โดยเป้าหมายสำคัญของโครงการ คือ ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ 1,000,000 ตัว ภายในระยะเวลา 2 ปี (2566 – 2567) เพื่อปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และสร้างจุดเรียนรู้และสาธิตฯ จำนวน 4 แห่ง เพื่อใช้ในการพัฒนาฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงเป็นการสร้างงานแก่ชุมชนในพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการประกอบด้วย การต่อยอดกิจกรรมการขยายผลสู่ชุมชน การติดตามในพื้นที่ และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรด้านการเพาะเลี้ยงและการแปรรูป
สำหรับปีงบประมาณ 2567 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดย สศท.10 ได้รับมอบหมายภารกิจการติดตามโครงการที่ดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 พบว่า โครงการมีการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายโดยสามารถผลิตพันธุ์สัตว์น้ำได้รวม 1,000,000 ตัว อาทิ กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ และปลากะพงขาว และสร้างจุดเรียนรู้ 4 แห่ง ได้แก่ จุดเรียนรู้เพาะพันธุ์ปลา จุดเรียนรู้การแปรรูปจากปลา จุดเรียนรู้การผลิตผงเกลือเพื่อปรับสภาพน้ำ และจุดเรียนรู้การจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่าย โดยใช้สถานที่ภายในฟาร์มทะเลตัวอย่าง ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรตัวอย่าง จำนวน 50 ราย ในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ เกษตรกร ร้อยละ 95.83 สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การดูแลรักษา และวิธีการเก็บผลผลิต ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรร้อยละ 78.26 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่น และการแปรรูปสินค้า เฉลี่ยอยู่ที่2,034 บาท/ครัวเรือน/ปี เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 1,040 บาท/ครัวเรือน/ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.13) ด้านสังคม เกษตรกร ร้อยละ 87.50 มีการรวมกลุ่มทำการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายทะเล และเกษตรกร 87.50 มีส่วนร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่ ได้แก่ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และการปลูกป่าชายเลน และด้านความยั่งยืน เกษตรกรร้อยละ 91.67 มีการนำความรู้และปัจจัยการผลิตไปใช้ต่อในเรื่องการขายพันธุ์เพาะเลี้ยงในฟาร์มตัวเอง และเกษตรกรร้อยละ 70.83 นำความรู้ไปเผยแพร่บุคคลอื่นในเรื่องการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และสาหร่ายผักกาดทะเล การวัดระดับความเค็มของน้ำ พันธุ์สาหร่าย
ทั้งนี้ สศท.10 ได้มีข้อเสนอแนะที่ได้จากการลงพื้นที่ เพื่อปรับปรุงรูปแบบหรือกระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขี้น อาทิ มีการวางแผนและพัฒนาผลผลิตให้ออกตรงตามความต้องการของตลาดตลอดทั้งปี เพื่อแก้ปัญหาราคาที่ผันผวน ประกอบกับส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลสายพันธุ์ใหม่ ๆ ผ่านแปลงสาธิต และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้อีกช่องทาง อาทิ พันธุ์ปลา กุ้งและปู สำหรับในปีงบประมาณ 2568 สศท.10 ยังคงติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการวางแผนติดตามผลการดำเนินโครงการ โดยมุ่งเน้นการติดตามจำนวน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ 2) ด้านประสิทธิภาพการผลิต 3) ด้านเศรษฐกิจ 4) ด้านสังคม 5) ด้านสิ่งแวดล้อม 6) ด้านโภชนาการและสุขภาพ และ 7) ด้านความยั่งยืน เพื่อติดตามผลจากการดำเนินงานด้านการฝึกอบรมว่ามีการนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ และติดตามผลที่เกิดจากการเข้าอบรม รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และเสนอข้อคิดเห็นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานกิจกรรมการฝึกอบรม ทั้งนี้ หากท่านสนใจรายละเอียดผลการติดตามโครงการฯ เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.10 โทร 0 3233 7951 หรือ อีเมล์ [email protected]