ปัจจุบันโลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการให้ระบบงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล และการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ รวมถึงการขยายขีดความสามารถของงานบริการประชาชน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการ อีกทั้งยังสามารถลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารงานของภาครัฐ พร้อมปรับภาพลักษณ์องค์กรให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570 สำหรับกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ให้ความสำคัญกับการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาศักยภาพภาคการประมง โดยได้วางกรอบนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการจัดการข้อมูลเพื่อ “ยกระดับการประมงไทยให้แข่งขันได้ โดยใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างความมั่งคั่งแก่เกษตรกร” ดังวิสัยทัศน์กรมประมงที่กำหนดไว้
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงระดับกรม (Department Chief Information Officer : DCIO) และผู้บริหารข้อมูลระดับสูง (Chief Data Officer : CDO) ของกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนภาคการประมงของประเทศ จึงได้มุ่งเน้นนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรให้มีความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น (Digital Transformation) ตอบโจทย์ต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และยกระดับภาคประมงไทยให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างทัดเทียมตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันกรมประมง โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีการปรับปรุงกระบวนงานและจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ (GIS) มาสนับสนุนงานด้านการประมง ให้บริการแผนที่ออนไลน์ด้านการประมง มีฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงบูรณาการทั้งข้อมูลภายในหน่วยงานกับหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 17 ฐานข้อมูล และจัดทำระบบแอพพลิเคชั่นออนไลน์เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมประมงและให้บริการประชาชนกว่า 71 ระบบ อาทิเช่น
1. ระบบหนังสือการแปรรูปสัตว์น้ำ (PSE) และระบบการตรวจสอบตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM) ภายใต้การเชื่อมโยงคำขอกลาง (FSW) ของกรมประมง (Processing Statement and PSM Link System : PPS) ซึ่งใช้สำหรับการออกใบอนุญาตและการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำที่ผ่านการแปรรูปและต้องดำเนินการตรวจสอบตามมาตรการของรัฐเจ้าของท่าภายใต้ระบบการเชื่อมโยงคำขอกลาง (FSW) ของกรมประมง ที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ
2. ระบบการแจ้งเข้าแจ้งออกของเรือประมงแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-PIPO) เป็นระบบที่ใช้ในการแจ้งข้อมูลการเข้าและออกของเรือประมงเพื่อการตรวจสอบกิจกรรมการทำประมง การทำรายงาน และควบคุมดูแลการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย
3. ระบบออกหนังสือคนประจำเรือ สำหรับแรงงานต่างด้าว (Sea book) ใช้สำหรับออกเอกสารรับรองสำหรับคนงานต่างด้าวที่ทำงานบนเรือประมงในประเทศไทย โดยจะทำให้มีการจัดเก็บข้อมูลประวัติของแรงงานต่างด้าว และติดตามความถูกต้องตามกฎหมายในการจ้างงาน
4. ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) ช่วยติดตามตำแหน่งของเรือประมงในเวลาจริงผ่านดาวเทียม เพื่อควบคุมการทำประมงในเขตน่านน้ำไทย และป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย
5. ระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (e-License) เป็นระบบที่ช่วยให้นายจ้างและเจ้าของเรือประมงสามารถขอใบอนุญาตทำการประมงทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระบวนการขอใบอนุญาตสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
6. ระบบสารสนเทศการทำประมง (Fishing Info) ใช้สำหรับเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมงในประเทศไทย เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและทำรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมการทำประมง
7. ระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย (Thai Flagged Catch Certification System : TFCC) เป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงที่ถือธงชาติไทย เพื่อยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ได้มาถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีการละเมิดกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ
8. ระบบตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยสินค้าประมงแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบนี้มีหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสุขอนามัยของสินค้าประมง เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัยต่อการบริโภค
ซึ่งระบบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่กรมประมงได้ดำเนินการ เพื่อให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการต่าง ๆ พร้อมยกระดับการบริการและความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและบริการสำหรับประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศให้มีความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความรู้ความสามารถด้านทักษะดิจิทัลของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยผลจากการดำเนินงานทั้งหมดที่ผ่านมา ส่งผลให้กรมประมงได้รับรางวัลอันทรงเกียรติด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ประจำปี พ.ศ. 2565 – 2567 ดังนี้
1. รางวัลการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน Web Content Accessibility Guideline (WCAG) รองรับกลุ่มผู้ใช้เปราะบาง ประจำปี 2566 Thailand Digital Accessibility Award 2023 จากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. รางวัล Compliance Award หน่วยงานภาครัฐที่มีการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)
3. รางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2566 (Digital Government Awards 2023) รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
4. รางวัลชุดข้อมูลเปิดทรงคุณค่า DIGI Data Awards 2022 (ประจำปี 2565) และ DIGI DATA AWARDS 2024 (ประจำปี 2567) จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
5. รางวัลหน่วยงานเครือข่ายข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ประจำปี 2567 จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
“กรมประมง…ยังคงปรับตัวตามกระแสดิจิทัลและพร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานภายในองค์กรแล้ว ยังพัฒนาการบริการที่ยังประโยชน์ต่อความต้องการของเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับภาคการประมงของไทยให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป” รองอธิบดีฯ กล่าว