เกษตรฯ วางเป้าหมายพัฒนาลองกองตันหยงมัส อัตลักษณ์นราธิวาส ในงานของดีเมืองนรา

จากการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ลองกอง พบว่า ปัจจุบันปริมาณผลผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาเป็นช่วงการเตรียมต้น สภาพอากาศไม่เหมาะสม ร้อน แล้ง ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะการออกดอกและติดผล

928238

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มอบแนวทางการพัฒนาลองกอง โดยเฉพาะลองกองตันหยังมัส ที่เป็นผลไม้อัตลักษณ์ของจังหวัดนราธิวาส ดังนี้

928231

1. ศึกษา วิเคราะห์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมที่มีความสัมพันธ์ต่อระยะการเจริญเติบโตของพืช เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณฝน คุณภาพดิน อินทรีวัตถุในดิน ธาตุอาหารที่จำเป็น เพื่อหาวิธีการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งรักษารสชาติลองกองตันหยงมัส ให้คงความหวานหอมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดินในพื้นที่อำเภอระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร พบว่า คุณสมบัติของดินในสวนลองกองที่ศึกษา ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายมีความเป็นกรดจัดถึงกรดปานกลาง โดยมีค่าความเป็นกรดด่างในช่วง 5.15 – 5.78 มีค่าสภาพการนำไฟฟ้าต่ำ คือ 0.01-0.03 dS m อินทรียวัตถุ มีค่าตั้งแต่ 12.86-18.73 g kg ไนโตรเจน 0.62-0.79 g kg ฟอสฟอรัส 3.58-24.69 mg kg โปแตสเซียม 33.09-102.37 mg kg รวมทั้งธาตุรอง แคลเซียม แมกนีเซียม ดังนั้น การปรับปรุงบำรุงดินให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของพืชด้วยการเพิ่มอินทรีวัตถุ เพื่อให้เกิดกระบวนย่อยสลายของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ได้เป็นธาตุอาหารหลัก รองที่จำเป็นและประหยัดต้นทุนการผลิต

928232

2. สร้างความแม่นยำการเก็บเกี่ยวผลผลิตลองกองที่ได้รสชาติดี หวาน หอม จึงได้เริ่มศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพ (สีเปลือก สีเนื้อ) และคุณสมบัติทางเคมี จากผลการวิเคราะห์สารให้กลิ่นผลผลิตตัวอย่างลองกองจำนวน 10 ตัวอย่าง พบว่า ประกอบด้วยสารกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ สารในกลุ่ม esters, aldehydes, alcohols, ketones, acids, terpenes and their derivatives, phenols และ hydrocarbons โดยพบว่าสารหลักในลองกองอันเป็นอัตลักษณ์ ได้แก่ สารที่ให้กลิ่นหอมหวานของผลไม้ (fruity flavor) ดอกไม้ (sweet floral) สมุนไพร (herbaceous)และกลิ่นเขียวสดชื่น (green attribute) เพื่อได้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่นำไปสู่การกำหนดสีผิวเปลือกที่เหมาะสมกับรสชาติ กลิ่น ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ลดการสูญเสีย สูญเปล่า และสร้างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้บริโภคมั่นใจและพึงพอใจในรสชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายความโดดเด่นของลองกองตันหยงมัสด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้จะมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อได้ข้อมูลที่มากเพียงพอต่อไป

928234

3. เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลองกอง เพื่อสร้างความตระหนัก ความรู้ทางวิชาการ และสร้างทักษะจากการฝึกปฏิบัติ ที่จะดูแล บำรุงรักษา โดยเฉพาะการปรับปรุงบำรุงดิน การควบคุมสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ให้ทันการณ์สำหรับเกษตรกรที่จะได้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวจนถึงระยะออกดอก ติดผล (พฤศจิกายน ถึง พฤษภาคม) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีขนาด คุณภาพที่ดี(สัดส่วนเกรดคุณภาพสูง) ซึ่งจะสร้างโอกาส อำนาจซื้อ และกำหนดราคาที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร สอดคล้องกับผลผลิตลองกองที่ชนะการประกวดลองกองในงานของดีเมืองนราธิวาส ปี 2567 พบว่ามีน้ำหนัก 1,000 – 1,250 กรัมต่อช่อมีค่าความหวาน 21 บริกซ์ ซึ่งมีการพัฒนาผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเปรียบเทียบ

928235

4. สำหรับระยะต่อไปจะมีการศึกษา DNA ของลองกองตันหยงมัส โดยการตรวจวิเคราะห์ DNA Fingerprints เพื่อการบ่งชี้และคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความเชื่อมั่นสายพันธุกรรม อันเป็นอีกส่วนหนึ่งของการอธิบายความโดดเด่นของลองกองตันหยงมัสด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

928236

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมจัดงานของดีเมืองนราประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 19 – 28 กันยายน 2567 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส จัดขึ้นภายใต้ชื่องานว่า “ 72 พรรษาปีมหามงคล ชาวนราเปี่ยมล้น ด้วยพระบารมี” ความโดดเด่นของงานในปีนี้ อยู่ที่กองงานวันลองกอง โดยนิทรรศการกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งอยู่ใน Zone เกษตรสรรค์สร้างความอุดมแห่งแผ่นดิน แสดงนิทรรศการ “หนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพ ลองกองตันหยงมัส อัตลักษณ์นราธิวาส” นำเสนอผลการวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงปลูกลองกอง ผลการวิเคราะห์ค่าคุณภาพทางกายภาพและเคมีของลองกอง ผลการวิเคราะห์สารให้กลิ่นด้วยเครื่อง GC-MS “5 พืชสำคัญ จังหวัดนราธิวาส (ทุเรียน ลองกอง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว)

928237

นอกจากนี้ยังได้แสดงผลผลิตการเกษตรที่ชนะการประกวดภายในงาน โดยไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การประกวดลองกอง ที่ส่งผลให้เกษตรผู้ผลิตลองกอง เรียนรู้การพัฒนาผลผลิตของลองกอง เปรียบเทียบจากส่งผลผลิตเข้าประกวด ทั้งน้ำหนักต่อผล ความยาวช่อ น้ำหนักช่อ ค่าความหวาน และจำนวนผล/ช่อ ที่เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2559 น้ำหนักต่อผล ประมาณ 9 – 10 กรัม ส่วนในปี 2566 น้ำหนักต่อผล ประมาณ 25 กรัมขึ้นไป เป็นต้น

928230