วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ทอดพระเนตรงานวันลองกอง ครั้งที่ 47 ประจำปี 2567 งานแข่งขันประชันเสียงนกเขาชวา งานศิลปาชีพและงานกระจูด และผลงานทางวิชาการของส่วนราชการต่างๆ ในงาน “ของดีเมืองนรา” โดยมีนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายพงษ์พันธ์ ธรรมมา รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายบุญศักดิ์ เกลียวกมลทัต ที่ปรึกษากรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ ดร.อนิรุธ เนื่องแม็ก ปศุสัตว์เขต 9 นายจักรพงษ์ ขานโบ ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส นายธีรวิทย์ ขาวบุบผา ผู้อำนวยการกองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ นายเฉลิมพล บุญเจือ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้ารับเสด็จฯ
ในโอกาสนี้ กรมปศุสัตว์ได้กราบบังคมทูลรายงานนิทรรศการผลการดำเนินงานด้านปศุสัตว์ ประกอบด้วย
- การดำเนินงานของศูนย์สาธิตการเลี้ยงสัตว์ในโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (งานปศุสัตว์) โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์ – เกษตรมูโนะ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 5 ซึ่งเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการสาธิตการเลี้ยงสัตว์ การผลิตสัตว์ การสร้างความรับรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่
- การดำเนินงานโครงการปรับปรุงพันธุ์ ทดสอบพันธุ์ไก่พื้นเมืองด่านซ้ายหมายเลข 1 โดยพัฒนาพันธุ์จากไก่เหลืองชัยพัฒนาด่านซ้าย(อู่ติง) จากศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทานด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ให้มีสมรรถภาพการผลิตสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และการจัดการของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้ได้ไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถสร้างให้เป็นสายพันธุ์ที่มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ เป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่บริโภค เพื่อให้เกิดการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เป็นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการสร้างรายได้แก่เกษตรกร
- สายพันธุ์ไก่พระราชทาน “ไก่โร๊ดไอส์แลนด์เรด” ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จนมีหงอนแบบหงอนจักรขนาดกลาง (หงอนจักร 5 แฉก) ลักษณะประจำพันธุ์ มีรูปร่างค่อนข้างยาวและลึก เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนทั่วไปตามลำตัวมีสีน้ำตาลแดงเข้ม ขนปีกขนหางมีสีดำเหลือบเขียว ผิวหนังและหน้าแข้งมีสีเหลืองจัด ปากมีสีแดงเหลือง ตาสีเหลือง แผ่นหูมีสีแดง นิสัยเชื่อง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เปลือกไข่มีสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาล ขนาดไข่ใหญ่ปานกลาง เริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 5 เดือนครึ่ง ให้ไข่ค่อนข้างดก คือ ให้ไข่ประมาณ 280-300 ฟอง/ปี เมื่อโตเต็มที่เพศผู้หนัก 3.1-4.0 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 2.4-4.0 กิโลกรัม ปัจจุบันนิยมเลี้ยงเพื่อเป็นพันธุ์ตั้งต้นในการผลิตไก่ไข่ลูกผสมทางการค้า เพื่อให้ได้ลูกผสมที่สามารถคัดเพศเมื่อแรกเกิดได้ โดยใช้ไก่โร๊ดเพศผู้ผสมกับบาร์พลีมัทร็อคเพศเมีย ลูกผสมที่ได้จะให้ไข่ดก ไข่มีเปลือกสีน้ำตาล และให้ไข่ฟองโต
- สายพันธุ์เป็ดไข่พระราชทาน “กากีแคมป์เบลล์” ลักษณะประจำพันธุ์ คือ เป็ดมีขนสีน้ำตาล แต่ขนที่หลังและปีกมีสีสลับอ่อนกว่า ปากสีดำค่อนข้างไปทางเขียว จะงอยปากต่ำ ตาสีน้ำตาลเข้ม คอส่วนบนสีน้ำตาลแต่ส่วนล่างเป็นสีกากี ขาและเท้ามีเดียวกับสีขน แต่เข้มกว่าเล็กน้อย เพศเมีย เมื่อโตเต็มที่น้ำหนักประมาณ 2.0-2.5 กิโลกรัม เริ่มไข่เมื่ออายุ ประมาณ 4 เดือนครึ่ง ให้ไข่ประมาณ 300ฟอง/ปี เพศผู้ เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 2.5-2.7 กิโลกรัม จะมีขนบนหัว คอไหล่และปลายปีกสีเขียว ขนปกคลุมลำตัวสีกากีและน้ำตาล ขาและเท้าสีกากีเข้ม
- การดำเนินงานโครงการไก่ไข่พระราชทาน โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ผลิตไก่ไข่ลูกผสมระหว่างพันธุ์โร๊ดไอร์แลนด์เรดและไก่พันธุ์ไทยบาร์ และดำเนินงานส่งเสริมและขยายผลไปยังโรงเรียนในโครงการเกษตรอาหารกลางวัน เกษตรกรในพื้นที่ขยายผล ได้แก่ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์พื้นที่ศูนย์สาขา พื้นที่ที่มีพระราชดำริให้ดำเนินการ และพื้นที่ที่มีความพร้อมและความเหมาะสม และมารดาตั้งครรภ์และมารดาที่มีเด็กเล็กในพื้นที่เป้าหมาย โครงการเกษตรอาหารกลางวัน
- การดำเนินงานโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ
- รูปแบบการจัดการอาหารหยาบ สำหรับเลี้ยงโคเนื้อนิคมสหกรณ์ปีเหล็ง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของนิคมสหกรณ์ปิเหล็งเป็นสวนปาล์มน้ำมัน เกษตรกรสามารถเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพเสริมโดยใช้ระบบพึ่งพา ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ แต่สวนปาล์มน้ำมันมีปัญหาด้านแสงแดดส่อง ทำให้มีข้อจำกัดในการปลูกพืชอาหารสัตว์ การอาศัยพึ่งพาหญ้าธรรมชาติ เช่น หญ้าขุยไผ่ขน หญ้าใบมัน และผลพลอยได้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ และสำรองเสบียงสัตว์ในช่วงการเกิดภัยพิบัติ จึงเป็นแนวทางการจัดการอาหารหยาบในพื้นที่ ทางใบปาล์มน้ำมันเป็นผลพลอยได้ทางการเกษตรมีคุณค่าทางโภชนะใกล้เคียงกับฟางข้าวและยอดอ้อยสามารถนำไปปรับปรุงคุณภาพใช้เป็นอาหารหยาบร่วมกับอาหารข้นหรือใบพืชตระกูลถั่วที่มีโปรตีนสูงเลี้ยงโคเนื้อ
- การดำเนินงานเรื่องการพัฒนาการแปรรูปและการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อโคดำบางนรา ที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงให้เกษตรกรในพื้นที่ โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อแผ่นปรุงรสโคดำบางนรา และข้าวหน้าเนื้อโคดำบางนรา ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่า
- BCG model ภาคปศุสัตว์ เกี่ยวกับการจัดการโคเนื้อ ซึ่งเป็นการนำเอาของเสียและผลพลอยได้จากการเลี้ยงโคเนื้อมาใช้ประโยชน์ โดยก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทะภาพ
- การทำบ่อแก๊สชีวภาพ โดยการนำของเสีย เช่น มูลสัตว์ และของเหลือใช้ทางการเกษตร มาผ่านกระบวนการหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทร์ในสภาวะไร้ออกซิเจน สามารถลดรายจ่ายค่าแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือนได้ นอกจากนี้กากของมูลสัตว์ที่ผ่านการย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์นำไปใส่พืชผักไร่นา ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัยไร้สารพิษช่วย ลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมจากของเสีย และลดการตัดไม้ทำลายป่าได้
กรมปศุสัตว์ ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานวันลองกองครั้งที่ 47 ประจำปี 2567 ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2567 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส