กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือนักออกแบบมือรางวัลระดับประเทศ ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปี 67 จำนวน 10 รายการ เพื่อช่วยบอกเรื่องราวสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยปีนี้ได้คัดเลือกผู้ประกอบการ GI จำนวน 10 สินค้า มาทำงานร่วมกับนักออกแบบมือรางวัลระดับประเทศ เช่น ผศ.ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ นักออกแบบฟอนต์และกราฟิกรางวัล DEmark 3 ปีซ้อน นายณัฐพล พิชัยรัตน์ นักออกแบบที่ร่วมกับแบรนด์ระดับสากลอย่าง King Power Amazon และ น.ส.ภาวิษา มีศรีนนท์ เจ้าของ PABAJA Studio ดีไซเนอร์ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบให้แก่สินค้าแบรนด์ดังในระดับสากล อาทิ Johnie Walker Microsoft และเป็น เป็นต้น เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้า GI ที่จะช่วยบอกเรื่องราวของสินค้าผ่านบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI
โดยในปีนี้ กรมได้คัดเลือกผู้ประกอบการ GI จำนวน 10 สินค้า ได้แก่ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ทุเรียนปราจีน (จังหวัดปราจีนบุรี) ส้มแม่สิน (จังหวัดสุโขทัย) ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ (จังหวัดนครราชสีมา) ทุเรียนป่าละอู (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) กาแฟเทพเสด็จ (จังหวัดเชียงใหม่) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (จังหวัดยโสธร) ร่มบ่อสร้าง (จังหวัดเชียงใหม่) ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา และผ้าหม้อห้อมแพร่
สำหรับโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI เป็นกิจกรรมที่กรมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2560 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI เพราะบรรจุภัณฑ์เปรียบเสมือนใบหน้าของผลิตภัณฑ์ ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคเป็นอันดับแรก ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องและรักษาคุณภาพสินค้า นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า สร้างภาพลักษณ์และความแตกต่างจากรูปลักษณ์ภายนอก และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ
สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI เป็นหนึ่งในความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้กับสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียง ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันเกิดจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และภูมิปัญญาของท้องถิ่น และสินค้า GI ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น โดยสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 73,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มุ่งมั่นส่งเสริมสินค้า GI เชิงรุกในทุกมิติ ทั้งด้านการขึ้นทะเบียน GI การควบคุมคุณภาพสินค้า การส่งเสริมการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องเกษตรกร ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ GI และขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน