นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว่า ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มีมติมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งปี 2567 กรมวิชาการเกษตรคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 จำนวน 4 รางวัล ดังนี้
1.สาขาบริการภาครัฐ ประเภทขับเคลื่อนเห็นผล ระดับดี จากผลงานเรื่อง การขับเคลื่อนกาแฟโรบัสตาศรีสะเกษ อัตลักษณ์หนึ่งเดียวพลิกวิกฤติสู่ความยั่งยืน ผลงานของ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ต่ำ รายได้ภาคเกษตรมาจากการปลูกข้าว ผลตอบแทน 2,360 บาทต่อไร่ต่อปี ส่งผลให้เกษตรกรศรีสะเกษ ยังคงไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ ไม่สามารถหลุดพ้นจากสภาพความยากจนได้ กรมวิชาการเกษตรจึงมีการขับเคลื่อนโครงการ “กาแฟโรบัสตาศรีสะเกษ อัตลักษณ์หนึ่งเดียวพลิกวิฤกติสู่ความยั่งยืน” มาสร้างต้นแบบการผลิตกาแฟโรบัสตาศรีสะเกษแบบครบวงจร สร้างทางเลือกใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างรายได้ 2.1-3.2 หมื่นบาท/ไร่
2. สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดี จากผลงานเรื่อง แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟในระยะสุกแก่ที่เหมาะสม ผลงานของ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร
เป็นผลงานวิจัยดัชนีการสุกแก่ต่อปริมาณความหวาน (oBrix) ปริมาณทริปโตเฟน และสาร Methylbutanoic Acid ของผลกาแฟ ในกาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงใหม่ 80 และกาแฟโรบัสต้าพันธุ์ชุมพร 2 จุดเด่น “แปลงค่าตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ เป็นแถบสีที่เข้าใจได้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน ต้นทุนต่ำ” ใช้ได้จริง สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ รวมถึงแรงงานต่างชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย สามารถใช้เป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลกาแฟ ในแปลงปลูกกาแฟกลางแจ้งแบบดั้งเดิม และแบบปลูกร่วมกับไม้ให้ร่มเงาได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดปัญหาการปะปนของผลกาแฟอ่อน ทำให้ได้เมล็ดกาแฟคุณภาพสูง เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบว่าราคารับซื้อผลกาแฟของเกษตรกร จากเดิม 14 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.7 ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นถึง 112,015.64 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ถือเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ และยกระดับมาตรฐานการผลิตกาแฟในระดับต้นน้ำของประเทศไทย ให้มีวัตถุดิบคุณภาพดีส่งต่อให้กับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟต่อไป
3.สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) ระดับดี จากผลงานเรื่อง กรมวิชาการเกษตรเปิดใจใกล้ชิด ผนึกกำลัง ร่วมยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขจัดอุปสรรคในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีวิธีการดำเนินการ ดังนี้
1. พัฒนาระบบราชการภายในส่วนราชการ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (Inside-out Approach) โดยการเสริมและสร้างบรรยากาศ สร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาศักยภาพและทักษะในการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมให้กับข้าราชการทุกระดับ
2. พัฒนาภายนอกภาคราชการ (Outside-in Approach) โดยการสร้างศักยภาพและโอกาสให้กับภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ
ซึ่งก่อให้เกิดผลสำเร็จของการดำเนินการ ดังนี้
- มีระบบฐานข้อมูลสำหรับผู้รับบริการ ประชาชน และผู้ที่สนใจ ที่สามารถสืบค้นได้ด้วยตนเอง สะดวก และรวดเร็ว,
- ระบบงานบริการมีความรวดเร็ว สามารถเชื่อมโยงกับระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ และภายนอกประเทศได้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการได้ 61 งานบริการ
- มีเครือข่ายภาคประชาชน/เกษตรกร ในการร่วมดำเนินการตามภารกิจของกรมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านพืชและปัจจัยการผลิตครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการต่อยอดงานวิจัย
- กรมมีช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล งานวิจัย เหมาะสมกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เกิดความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจด้านเกษตรมีความยั่งยืน ตลอดจนสามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ
4. สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดี จากผลงานเรื่อง กาแฟฟ้าห่มปกมรดกคู่ผืนป่า พึ่งพาตนเอง ผลงานของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยฟ้าห่มปก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการวิเคราะห์ พบว่าเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และขาดพืชที่มีศักยภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่ ศวพ.เชียงใหม่ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟอะราบิกาด้วยการฝึกอบรม จัดทำแปลงต้นแบบ ขยายผลสู่เกษตรกร และสนับสนุนกาแฟอะราบิกาพันธุ์ กวก. เชียงใหม่ 80 รวมถึงการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ ที่สนับสนุนชาวบ้านจนการปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีรายได้จากกาแฟ 1.3 ล้านบาท รายได้ 86,160 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพิ่มขึ้น 32 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ผลผลิตมีมาตรฐาน GAP รางวัลจากการประกวด มีแบรนด์สินค้า สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ 16,670 ไร่ มีการสืบทอดอาชีพการปลูกกาแฟของบุตรหลาน และขยายผลไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ได้แก่ บ้านหล่ายอาย บ้านปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร มีความมุ่งมั่น เป็นอย่างมาก ในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร สอดรับกับนโยบายของ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้เป็นเกษตรทันสมัย “ด้วยแนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”