ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถือฤกษ์ในเวลา 08.19น. เข้าสักการะห้องพิรุณ 130 (ห้องพระ อาคาร 1 ชั้น 4) สักการะศาลพระภูมิชัยมงคล สักการะศาลท้าวเวสสุวรรณ สักการะศาลตา – ยาย สักการะองค์พระพิรุณทรงนาค (หน้าอาคาร) และสักการะองค์พระพิรุณทรงนาค (ห้องพิพิธภัณฑ์) และถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ บริเวณหน้าอาคารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดย ศ.ดร.นฤมล ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ครั้งที่ 1 / 2567 ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ วานนี้(16 ก.ย.)ว่า หน่วยงานแต่ละแห่งหด้รายงานให้ทราบถึงความเสียหายของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี แสเงความเป็นห่วงในเรื่องของความรวดเร็วในการเข้าช่วยเหลือประชาชน และได้มีการหารือว่าจะมีวิธีการใดที่จะชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนได้มากที่สุด เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย ได้เสนอให้มีการลดค่าน้ำและค่าไฟให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัย หรือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เสนอให้มีการวางแผนป้ิงกันปัญหาอุทกภัยในระยะยาว แทนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเยียวยาที่มากกว่าการป้องกันแน่นอน
“ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน พร้อมที่จะให้การสนับสนุน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ๆ แต่ขอให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน โดยจะรับฟังเสียงความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้รอบด้าน และถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลเรื่องน้ำ มาเป็นประธานคณะกรรมการที่จะศึกษา ทบทวนโครงการต่าง ๆ ที่ทางกรมชลประทานได้เคยศึกษาไว้ ว่าเราจะนำโครงการใดมาปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจัดลำดับความสำคัญซึ่งขณะนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้“ ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล บอกด้วยว่าสำหรับ โครงการขนาดใหญ่นั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในอดีตที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้จากเดชะพลานุภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ได้มีพระราชดำริให้ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ และที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และรับฟังเสียงถึงข้อดีข้อเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดขณะนี้กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์ให้ฟังอย่างต่อเนื่อง และติดตามการพยากรณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตือนภัยให้กับประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในตอนนี้บางพื้นที่ก็เหนือการคาดการณ์ เช่น กรณีน้ำป่าไหลหลากบริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา