กรณี “คณะรัฐมนตรีแพทองธาร” เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 ทั้งนี้มีทั้งสิ้น 10 นโยบาย
ในนโยบายที่ 6 รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agi-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย”ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร
นอกจากนี้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ยังระบุว่า เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (IndustryTransformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine) ที่จะปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของความต้องการของผู้บริโภคด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อเร่งให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว และพัฒนาบทบาทให้เป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก โดยดำเนินการ ดังนี้
-รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส โดยรัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ เร่งจัดทำแผนที่ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองและระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น
คำแถลงนโยบายของรัฐบาล ยังระบุว่า ในการบริหารประเทศยุคนี้ เราไม่สามารถมองผ่านความท้าทายโอกาสของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปได้ รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนี้
รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น เพื่อให้เป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิต เพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลจะสร้างการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหา PM25 และการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดการกับปัญหาการลักลอบกำจัดหรือฝังกลบกากอุตสาหกรรม/ของเสียอันตรายด้วยความเข้มงวด และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงทรัพยากรทางทะแลและชายฝั่งทั้งระบบ
รัฐบาลจะยกระดับการบริหารจัดการน้ำ จะจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงได้ และจะเร่งให้น้ำถึงไร่นาด้วยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำ ควบคู่กับการขยายเขตชลประทานพร้อมทั้งเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับศักยภาพของลุ่มน้ำและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
รัฐบาลจะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ขั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลกและช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย