กรุงเทพฯ 5 ก.ย. -สภาทนายความยื่นฟ้องคดีปลาหมอคางดำต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้า เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ชดใช้แก่ชาวประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนร้องศาลปกครองเอาผิดเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐฐานละเลยต่อหน้าที่ ไม่ยับยั้งความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า คณะทำงานให้ความช่วยเหลือกรณีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดนำนายปัญญา โตกทอง กับพวกรวม 10 คนเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขตอำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามกว่า 1,400 คน ยื่นฟ้อง เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทแห่งหนึ่งกับกรรมการบริหารรวม 9 คนต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีสิ่งแวดล้อมและขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้านและจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงมีคำขอบังคับให้บริษัทแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”
ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่บริษัทเป็นผู้ขออนุญาตและนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากประเทศกานา คือปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron) ซึ่งเป็นสัตว์น้ำอันตรายต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำท้องถิ่น เข้ามาทดลองพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทฯที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์น้ำอันตราย ทำให้เกิดการหลุดรอดของปลาหมอคางดำจากแหล่งเพาะเลี้ยงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แพร่พันธุ์และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเกิดการแพร่ระบาดเข้าสู่บ่อเพาะเลี้ยงของชาวประมงและกระจายไปหลายจังหวัดของประเทศ
สำหรับขอบเขตและลักษณะเฉพาะของกลุ่มในการฟ้องคดี คือ เป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและ/หรือประมงพื้นบ้านโดยมีภูมิลำนักอาศัยและทำมาหากินอยู่ในเขตพื้นที่อำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม และได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
ส่วนจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้องประกอบด้วย
1) กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจำนวนสมาชิกกว่า1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท
2) กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจำนวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท
รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดสมุทรสงครามเรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท
นอกจากนี้นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการนำคณะทำงานคดีปกครองของสภาทนายความ พร้อมคณะทำงานร่วมในคดีสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับมอบอำนาจจากตัวแทนประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภออัมพวาและอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม 54 คนซึ่งได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางรวมทั้งหมด 18 รายได้แก่ 1. กรมประมง 2. อธิบดีกรมประมง 3. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8. อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 13. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 14. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15. อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16. กระทรวงมหาดไทย 17. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ 18. กระทรวงการคลัง
คดีนี้เป็นการฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 54 คนและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาดังนี้
ข้อ 1. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามกฎหมายที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีแต่ละคน โดยกำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อควบคุม ป้องกัน แก้ไข หรือระงับยับยั้ง การขยายพันธุ์หรือการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ มิให้เกิดการขยายพันธุ์หรือแพร่ระบาดและเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบสี่และประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ข้อ 2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดกำหนดมาตรการและดำเนินการประเมินความเสียหาย รวมทั้งดำเนินการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำทั่วประเทศให้กลับมาเป็นพื้นที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ มีความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ข้อ 3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 13 ถึงที่ 17 ร่วมกันดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อประกาศให้พื้นที่ 19 จังหวัด ตามประกาศประกาศกรมประมงและพื้นที่จังหวัดอื่นทั่วประเทศไทยที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำให้เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้ง 54 คนและประชาชน ภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ข้อ 4. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดกำหนดมาตรการและดำเนินการเรียกร้องให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ และผู้เกี่ยวข้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหายทั้งหมดของทรัพยากรสัตว์น้ำ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดแล้อม ที่ถูกทำลายหรือเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่เกิดขึ้นจริง นับตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำเป็นต้นมาจนถึงวันฟ้อง และให้เรียกร้องค่าเสียหายในอนาคตเป็นรายปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำให้หมดไป รวมถึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดเรียกร้องให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำดังกล่าวรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่รัฐเสียไปในการควบคุม กำจัด และป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามจำนวนงบประมาณที่รัฐเสียไปตามความเป็นจริง
นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบสี่รายยังยื่นคำขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีนี้ โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดรายใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องดำเนินการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ 19 จังหวัดตามประกาศของกรมประมงและทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มเติม รวมทั้งให้จ่ายค่าเสียหายตามที่ประเมินเบื้องต้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 54 รายและประชาชนทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำทั่วประเทศเป็นกรณีเร่งด่วน