สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดสัมมนาโครงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่ กลุ่มจังหวัดภาคกลาง โดยมี นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย นายกิตติเกษม เอี่ยมสะอาด ผู้อำนวยการกองควบคุมมาตรฐาน มกอช.
โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่เขตภาคกลางมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้และแสดงเครื่องหมาย Q ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเป็นการนำร่องการใช้และแสดงเครื่องหมาย Q สำหรับสินค้าเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่เขตภาคกลาง โดย มกอช. ได้มีการจัดสัมมนา ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2567 และมอบโล่เกียรติคุณให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ของของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี สระบุรี อ่างทอง ลพบุรี อยุธยา นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการคัดเลือก พร้อมกับจัดแสดงกรณีศึกษาของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จัดทำ QR Code ภายใต้ระบบ ACFS Traceability (QR Trace on cloud) และมีการแสดงเครื่องหมาย Q ตามประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่อง กำหนดรหัสในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อีกทั้งได้จัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “แปลงใหญ่ ใส่ใจ Q” ของเกษตรกรแปลงใหญ่ภาคกลางที่เข้าร่วมโครงการ ณ โรงแรมเดอะคาวาลิคาซ่า รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รองฯ ปรียานุช เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมุ่งเน้นให้ทำการเกษตรตรงตามความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคเป็นหลัก ใช้นวัตกรรมเพิ่มศักยภาพในการจัดการการผลิต และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบาย “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ซึ่งทั้ง 2 นโยบาย มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น โดยกลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สินค้าเกษตรที่มีการส่งออก กลุ่มที่ 2 สินค้าที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการส่งออกหรือแปรรูป และกลุ่มที่ 3 สินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น functional food สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) โดยในการสัมมนาครั้งนี้ ได้มีสินค้าเกษตรด้านพืชที่มีศักยภาพหลายชนิด เช่น เมล่อน กล้วยหอม ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม มาจัดแสดงในงานครั้งนี้ ด้วยเช่นกัน
“มกอช.ได้ขับเคลื่อนนโยบายในการต่อยอดสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q) เพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมไปถึงการแสดงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้นำระบบตามสอบสินค้าเกษตร ACFS Traceability (QR trace on cloud) ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผ่านทาง QR Code และเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามตรวจสอบที่มาของสินค้า ความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค อีกทั้งมีประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบกรณีที่สินค้ามีปัญหาหรือถูกร้องเรียน ซึ่ง มกอช. ได้รับความร่วมมือ และช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพของจังหวัด และสามารถต่อยอดหรือพัฒนาสินค้าเกษตรแปลงใหญ่สู่เกษตรมูลค่าสูงได้ เข้าร่วมโครงการอีกด้วย” นางสาวปรียานุช กล่าว