นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าตามที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมสถานการณ์อุทกภัยและฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลดปี 2567 ที่ประชุมได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจและเร่งฟื้นฟูพื้นที่เกษตรหลังน้ำลดทันที โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ประชุมเกษตรจังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัย ใน 33 จังหวัด ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อติดตามสถานการณ์พื้นที่ที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการ พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือทันที สำหรับสถานการณ์ในครั้งนี้ (ข้อมูล ณ 2 ก.ย. 67) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย จำนวน 33 จังหวัด และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 23 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด พะเยา จันทบุรี พิจิตร กาญจนบุรี ตาก ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ตราด ขอนแก่น นครนายก แพร่ พิษณุโลก อุดรธานี เลย เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน สุโขทัย และหนองคาย เบื้องต้นมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 121,733 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 758,741.75 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 641,940.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 89,080.25 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 22,721 ไร่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอที่พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ให้เร่งสำรวจ และประเมินความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูอาชีพหรือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ดังนี้
- สำรวจตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินความเสียหายเบื้องต้น เมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติหรือสามารถเข้าพื้นที่ได้โดยเยี่ยมเยียน สดับตรับฟังปัญหา ความเดือดร้อน ให้คำปรึกษาและความเชื่อมั่นการเข้าถึงสิทธิการช่วยเหลือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระบวนการขั้นตอนการช่วยเหลือตามระเบียบฯ และกรอบเวลา ช่องทางการขอรับการช่วยเหลือ การตรวจสอบสิทธิและสถานะการรับเงินช่วยเหลือ ประสานการปฏิบัติร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพที่ดีกว่าเดิม สนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน ตลอดจนบริหารความคาดหวังของเกษตรกรให้เป็นที่พึงพอใจตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- ประสานการปฏิบัติร่วมกับคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้าน เพื่อปฏิบัติภารกิจตรวจสอบและรับรองความเสียหาย การบันทึกข้อมูลตามแบบฟอร์ม การปิดประกาศคัดค้าน ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน สถานการณ์ที่คลี่คลาย และตามกรอบเวลาที่กำหนด
- สื่อสารความก้าวหน้าของกระบวนการช่วยเหลือฯ ให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิได้รับทราบสถานะ และสถานการณ์ที่คลี่คลาย เพื่อสร้างความเข้าใจการทำงานของภาครัฐ และร่วมมือขับเคลื่อนชุมชนไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์สาธารณะ
- สนับสนุนการปฏิบัติร่วมกับศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสกรณ์เป็นประธาน เพื่อการบูรณาการทรัพยากร กระบวนการช่วยเหลือ และการฟื้นฟูในภาพรวมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ให้ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติด้านพืช กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานระดับกรม ประสานการปฏิบัติร่วมในทุกระดับ พร้อมทั้ง ติดตาม ประเมิน สอบทานประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือและฟื้นฟู ของกรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการรายงานความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค เพื่อการปรับแผนให้เหมาะสมและทันการณ์
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนพื้นที่ที่มวลน้ำจากพื้นที่ประสบเหตุจะไหลลง และส่งผลกระทบอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรได้ เช่น จังหวัดพิษณุโลก อ่างทอง รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัย 44 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ ช่วงระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ทุกหน่วยงานตามประกาศประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนเกษตรกรโดยเร็ว