นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายจากร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำทีมสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ (New Breeding Technology – NBT) โดยเฉพาะการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ร่วมกับกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ทั้งด้านวิจัย และการกำกับดูแล ระหว่างวันที่ 24-29 สิงหาคม 2567
ด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) มีศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร มีความปลอดภัยสูงและมีประสิทธิภาพส่งเสริมการแข่งขันของภาคการเกษตรเพื่อรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เร่งวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ในการนี้เพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเข็มแข็งภาคเกษตรของประเทศ จึงเร่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การมาเยือนสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการหารือความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา โดยมีแผนการขับเคลื่อนดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
ด้านการกำกับดูแล มีแผนความร่วมมือกับ APHIS โดย Dr. Bernadette Juarez, Deputy Administrator, APHIS-Biotechnology Regulatory Services และภาคเอกชน Dr. Paul Spencer, Corteva และ Dr. Scott Kuschmider, Bayer นำร่องการขับเคลื่อนประเมินตามแนวทางการพิจารณาพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 เพื่อนำร่องขับเคลื่อนด้านการกำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ภายในต้นปีหน้า
กรมวิชาการเกษตรร่วมกับ USDA และภาคีเครือข่ายผลักดันเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Plant Breeding Innovation for sustainable Agriculture and Agro-economic Developments วันที่ 3-4 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างการรับรู้และผลักดันการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
สำหรับแผนปฏิบัติการในปี 2568 ด้านงานวิจัย เตรียมส่งนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร ขอรับทุน Cochran และ Borlaug Fellowship program ไปเรียนรู้การปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยี GEd กับหน่วยวิจัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Dr. Ibrahim Shaqir, Director Beltsville Agricultural Research Serviceม Dr.Ingrid Watsan, Director OIREC และ Dr. Jack Okamura National Program Leader Plant Biology กล่าวถึงเทคโนโลยีใหม่ Symbion สร้างภูมิคุ้มกันพืชต้านทานโรค นอกจากนี้จากการหารือ Prof. Yiping Qi มหาวิทยาลัย Maryland พัฒนาโครงการวิจัยร่วม โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณวิจัย สวก. และ สกสว. พัฒนานักวิจัยไทย โดยกรมวิชาการเกษตรจะนำร่องส่งนักวิจัยรุ่นใหม่เรียนรู้เทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกา
พร้อมกันนี้ได้ประสานบริษัท Corteva และ Bayer ที่เป็นผู้นำ เทคโนโลยีภาคเอกชน ในการพัฒนาความร่วมมือการทดสอบในสภาพแปลงทดลองขับเคลื่อนการใช้เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ (NBTs) ในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ อาทิ ถั่วเหลืองทนแล้ง/ไขมันดีสูง ข้าวโพดทนแล้ง เป็นต้น เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพ และผลผลิตพันธุ์ พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์พืช และพันธุ์พืชเขตร้อนของโลก (Tropical seed hub) โดยการยกระดับ Phytosanitary Certificate ของไทยเข้าสู่ระบบดิจิตัล ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าเมล็ดพันธุ์ และการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย ที่มีความขัดเจน รวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง ซึ่งเทคโนโลยี GEd นั้นได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ FAO รวมถึงประสานความร่วมมือ Dr.Andrew Roberts จาก Agriculture and Food System Institute เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้ CHATBot AI และสร้างการรับรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ผ่านช่องทางสัมมนา และโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่จะช่วยให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เข้าใจถึงความปลอดภัยของเทคโนโลยี GEd ที่ถูกต้อง นำไปสู่การขับเคลื่อนใช้ประโยชน์และสร้างความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม