นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัย และปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและลุ่มน้ำ ขณะนี้ (29 ส.ค. 67) มีพื้นที่การเกษตรด้านพืช ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด พะเยา จันทบุรี พิจิตร กาญจนบุรี ตาก ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ตราด ขอนแก่น นครนายก แพร่ พิษณุโลก อุดรธานี เลย เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน เบื้องต้นมีเกษตรกร 112,049 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 701,525 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 588,231.25 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 86,534.25 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 26,759.50 ไร่
พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และรายงานพื้นที่การเกษตรประสบภัยพิบัติ พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกร รวมถึงออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย สื่อสารให้เกษตรกรทราบถึงสถานการณ์และบริหารความเสี่ยง โดยตรวจสอบเส้นทางน้ำไหล เสริมคันกั้นน้ำในจุดที่มีความเสี่ยง เตรียมเครื่องสูบน้ำหรืออุปกรณ์สำหรับระบายน้ำเพื่อลดการแช่ขังซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพืช โดยจะต้องสำรวจแปลงเกษตรและพื้นที่ใกล้เคียงในการรองรับหรือเป็นทางผ่านของการระบายน้ำด้วย ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกษตรกรควรงดการใส่ปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิต เพื่อลดความสูญเสียรายได้และลดการเพิ่มต้นทุนการเกษตรไปโดยไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งควรจัดเก็บเครื่องมือการเกษตรในที่ปลอดภัยป้องกันความเสียหายด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการให้ความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการเกษตร กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายเกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท
สำหรับขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านพืช มีดังนี้
- เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว
- เกษตรกรยื่นขอรับการช่วยเหลือ (กษ01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน อบต./นายกเทศมนตรี ตรวจสอบและรับรองความเสียหาย ตามสถานที่ที่กำหนด
- คณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้านตรวจสอบและรับรองความเสียหาย แล้วแต่กรณี
- นำรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไปติดประกาศคัดค้านตามสถานที่ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 วัน
- ในส่วนของการพิจารณาให้การช่วยเหลือ ดังนี้
5.1 สำนักงานเกษตรอำเภอนำเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท) ภายใน 40 วัน นับแต่วันที่เกิดภัย
5.2 หากไม่เพียงพอให้ สำนักงานเกษตรจังหวัดเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจาณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินในอำนาจ 20 ล้านบาท) ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่เกิดภัย
5.3 หากไม่เพียงพอให้คณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจาณาให้ความเห็นชอบ ขอใช้เงินทดรองราชการ ในอำนาจปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (วงเงินในอำนาจ 50 ล้านบาท) โดยจังหวัดจะเสนอให้กรมพิจารณา ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ผ่านการพิจารณาก.ช.ภ.จ. และเสนอให้กระทรวงพิจารณา ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากจังหวัด และเสนอปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณา ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากกรม โดยเกษตรกรจะยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว และ ภายใน 10 วันทำการหลังจากได้รับการอนุมัติ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง ตามลำดับต่อไป ให้เกษตรกรระวังการแอบอ้างจากมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดีในการรับเงินด้วย
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เตรียมการสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.) จำนวน 10 แห่ง ได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก จำนวน 92,000 ซอง ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร จำนวน 28,000 ซอง และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง ได้ดำเนินการจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทั้งแบบพร้อมใช้ และหัวเชื้อขยาย พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรนำใช้ในการฟื้นฟูป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด และยังเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ของท่าน