นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 (the 9th APEC Food Security Ministerial Meeting) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ เลขาธิการ สศก. เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงทรูจิลโล สาธารณรัฐเปรู โดยมี Mr. Angel Manero Campos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาการเกษตรและชลประทานของสาธารณรัฐเปรู เป็นประธานการประชุม และ H.E. Ms. Dina Boluarte ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ได้ให้เกียรติมาร่วมกล่าวปิดการประชุมฯ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย (1) แถลงการณ์ ทรูจิลโล การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 9 และ (2) เอกสารหลักการการป้องกันและการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเปค
เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า รัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค จากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในการบรรลุการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองที่ครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาค โดยแถลงการณ์นี้ได้กำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนและปรับปรุงการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และคุณค่าโภชนาการที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร พร้อมทั้งเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังได้รับรองเอกสารหลักการป้องกันและการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเปคซึ่งกำหนดแนวทางการดำเนินงานของสมาชิกเอเปค ประกอบด้วย 7 หลักการ ได้แก่ (1) การสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน (2) ส่งเสริมหุ้นส่วนนโยบายระหว่างภาครัฐและเอกชน (3) สนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล (4) เสริมสร้างความสามารถ การตระหนักรู้ และองค์ความรู้ (5) พัฒนาการเก็บข้อมูลและการจัดการองค์ความรู้ (6) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และ (7) ส่งเสริมการแจกจ่ายอาหารส่วนเกินและบริจาคอาหาร
โอกาสนี้ เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม เพื่อสนับสนุนเอกสารหลักการป้องกันและการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเปค และเน้นย้ำถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก และความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการสูญเสียและขยะอาหาร พร้อมนโยบายเกษตรที่สำคัญของไทยที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร โดยชูบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน อาทิ การออกนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนธุรกิจอาหารในทุกระดับตั้งแต่การผลิตจนถึงการกระจายสินค้า ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีในการดำเนินการ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถผ่านการศึกษา
สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการลดการสูญเสียอาหารในห่วงโซ่การผลิต พ.ศ. 2566-2570 และ (ร่าง) แนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยอาหารสำหรับการบริจาคอาหาร
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิ Scholars of Sustenance (SOS) จัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกินและส่งต่อไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย โดยตั้งแต่ปี 2559 ไทยได้มีการบริจาคแล้วมากกว่า 36 ล้านมื้อ กอบกู้อาหารส่วนเกินได้ถึง 8 ล้านกิโลกรัม และมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 21,000 ตัน
ทั้งนี้ H.E. Ms. Dina Boluarte ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ได้ให้เกียรติมาร่วมกล่าวปิดการประชุมฯ ซึ่งได้กล่าวเน้นย้ำความสำคัญความสมานฉันท์และการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การไหลเวียนของผลผลิตทางการผลิตทางการเกษตรข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงผลิตภาพการผลิต การป้องกันและลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารและการรับมือกับความท้าทายจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารภายในภูมิภาคเอเปคอย่างยั่งยืนร่วมกัน