นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ เกษตรกรผู้ทำสวนยางและปลูกสวนป่า จากตำบลคลองเส อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอายุ 57 ปี เริ่มประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางพาราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้มีองค์ความรู้ด้านการเกษตรเนื่องจากมีประสบการณ์ ลองผิดลองถูกด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา พร้อมทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยใช้แนวคิดการปลูกพืชร่วมยางพารา เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และในปี พ.ศ. 2558 ได้จัดตั้งเป็น “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอถ้ำพรรณรา” โดยมีพืชหลักคือ ยางพารา เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้เป็นรูปแบบมากยิ่งขึ้น สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลสู่พื้นที่ใกล้เคียงได้ และในปี พ.ศ. 2567 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกสวนป่า ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ เกษตรกรต้นแบบ ศพก. กล่าวว่า เริ่มประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางพาราตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบใฝ่รู้และหาความรู้ใหม่ ๆ พร้อมที่ จะรับความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ และพยายามลองผิดลองถูกด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา ศึกษาและทดลองทำในแปลงของตนเองจนประสบผลสำเร็จ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดต่อให้กับผู้สนใจไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในพื้นที่ หรือต่างพื้นที่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา สำหรับองค์ความรู้ นวัตกรรม และภูมิปัญญา ที่นำมาปรับใช้ภายในศูนย์ ศพก. ดังนี้
การปลูกพืชแซมยางพารา โดยการปลูกพืชแซมในแปลงยางพาราตามอายุของยางพารา ดังนี้ ยางพารา อายุ 1 – 3 ปี ทำนาข้าวไร่/สับปะรดแซมในแปลงยางพารา สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ระหว่างยางพาราครบอายุเปิดกรีดหน้ายาง และสามารถช่วยให้การใช้พื้นที่การเกษตรเกิดประโยชน์และคุ้มค่า ยางพารา อายุ 4 ขึ้นไปปลูกพืชอาหาร เช่น กล้วย กาแฟ สับปะรด ผักเหรี่ยง เป็นต้น และพืชเศรษฐกิจ เช่น สักทอง ตะเคียน พะยอม เป็นต้น เพื่อเพิ่มช่องทางที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
การปลูกยางพาราแบบผสมผสานอย่างยั่งยืน ได้เข้าร่วมเสนอผลงานนวัตกรรมประเภทสิ่งประดิษฐ์ของเกษตรกรในหัวข้อการ ปลูกยางพาราแบบผสมผสานอย่างยั่งยืน เปลี่ยนจากปลูกยางเชิงเดี่ยว เป็นการทำสวนยางแบบผสมผสานโดย นำเสนอรูปแบบการปลูกยางพารา 4 รูปแบบ ในแต่ละรูปแบบเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้และกำหนดได้เอง ตามขนาดพื้นที่เหมาะสม แต่ต้องปลูกยางพาราไม่น้อยกว่า 40 ต้น/ไร่ ตามข้อกำหนดของ กยท. ในพื้นที่ระหว่างแถวสามารถปลูกพืชอาหาร พืชคลุมดิน ไม้มีค่า เป็นต้น
การจัดการดินปุ๋ย/การผลิตปุ๋ยหมัก การเก็บตัวอย่างดิน ด้านการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง การตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหาร การทำปุ๋ยหมักจากเศษมูลไก่ การทำน้ำหมักชีวภาพจากวัสดุภายในศูนย์ (ศพก.) สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เป็นฐานเรียนรู้เพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้ ให้แก่เกษตรกรที่สนใจ สามารถปฏิบัติได้จริง
ธนาคารต้นไม้ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองและชุมชนภาย ใต้แนวคิด “ต้นไม้” คือ “สินทรัพย์” ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีราคาสามารถถือครองได้ สามารถใช้แทนบำเหน็จบำนาญยามชรา และเป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไปได้
นวัตกรรมถ่านชีวภาพ (Biochar) คือ การนำชิ้นส่วนทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการเผาที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียสขึ้นไป เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน หรือมีน้อยมาก เพื่อปรับเปลี่ยนไม้ที่เป็นคาร์บอนสูง ให้เป็นเป็นถ่านที่เป็นของแข็ง
นายสุมิตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศพก.อำเภอถ้ำพรรณรา มีการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเข้ามาใช้สถานที่เพื่อถ่ายทอดความรู้อย่างสม่ำเสมอ มีฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เป็นจุดในการถ่ายทอดความรู้ จุดสาธิต และจุดปฏิบัติ สอดคล้องกับหลักสูตร ารเรียนรู้ของศูนย์ ศพก. เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้พร้อมปฏิบัติจริง Learning by doing เกิดความชำนาญ และรู้จริง สามารถนำความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ จากการศึกษาในแปลง นำไปใช้และไปถ่ายทอดความรู้ ให้กับบุคคลคนอื่น ๆ ต่อไปได้ หลักสูตรการเรียนรู้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสอดคล้องกับฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ภายในศูนย์ ซึ่งประกอบด้วย 9 ฐานเรียนรู้ ฐานเรียนรู้ที่ 1 การปลูกยาง ฐานเรียนรู้ที่ 2 การกรีดและดูแลรักษายางพารา ฐานเรียนรู้ที่ 3 โรคและศัตรูยางพารา ฐานเรียนรู้ที่ 4 การใส่ปุ๋ยยางพารา ฐานเรียนรู้ที่ 5 การแปรรูปไม้ร่วมยางพารา ฐานเรียนรู้ที่ 6 การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ฐานเรียนรู้ที่ 7 เกษตรผสมผสาน ฐานเรียนรู้ที่ 8 การทำปุ๋ยหมัก ฐานเรียนรู้ที่ 9 ธนาคารต้นไม้ เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ ตลอดจนหน่วยงานราชการต่าง ๆ สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยทางศูนย์มีความพร้อมในการให้บริการทั้งเกษตรกรรายเดี่ยวหรือเป็นหมู่คณะ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอถ้ำพรรณรา เลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองเส อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้าน นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากความสำเร็จในการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอถ้ำพรรณรา และความโดดเด่นของนายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ เกษตรกรต้นแบบและเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกสวนป่า ประจำปี 2567 จึงได้รับเลือกให้เป็น ศูนย์ ศพก. ดีเด่นระดับเขตภาคใต้ตอนบน และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจประเมินศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ (ศพก.) ดีเด่นระดับประเทศ นำโดยนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อพิจารณาคัดเลือกศูนย์ ศพก. ดีเด่นระดับประเทศต่อไป “การประกวด ศพก. จะเป็นการพัฒนาความสามารถ เป็นตัวอย่างในการขยายผลการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรในชุมชน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่”