กรมการข้าว นำสื่อมวลชนทัวร์ศูนย์ข้าวชุมชนภายใต้ “โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน”

S 8315045

กรมการข้าว จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร พาไปชมศูนย์ข้าวชุมชนดีเด่น ภายใต้ “โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน” ในวันที่ 22 – 23 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม กับ 4 ศูนย์ข้าวชุมชน ประกอบด้วย ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดอนหัน ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลใหม่นาเพียง ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดงน้อย และศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย พร้อมฟังแนวทางการรวมกลุ่มดำเนินงานของศูนย์ข้าวชุมชนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จากประธานกลุ่มดังกล่าว ในเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อยกระดับนำไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง อีกทั้งกรมการข้าวยังช่วยส่งเสริม การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต สู่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าว

S 8315046
S 8315049

นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว เผยว่า กรมการข้าว ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ภายใต้ “โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน”เพื่อนำสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้มารับทราบผลความสำเร็จที่มาจากการเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว กับกรมการข้าวเนื่องจากศูนย์ข้าวชุมชน เป็นองค์กรชาวนาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนการจัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันได้ดำเนินการภายใต้ระเบียบกรมการข้าวว่าด้วยศูนย์ข้าวชุมชน พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นแหล่งผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในชุมชน สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน สามารถยกระดับการบริหารจัดการข้าวตลอดระบบห่วงโซ่การผลิตและการตลาดข้าวอย่างครบวงจรปัจจุบันมีศูนย์ข้าวชุมชนขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวแล้ว จำนวน 4,745 แห่ง ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค.67) ศูนย์ข้าวชุมชนดังกล่าว ยังคงมีการดำเนินงานกิจกรรมต่อเนื่องในลักษณะการบริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม “โดยชาวนา เพื่อชาวนา” ภายใต้การกำกับดูแลโดยกรมการข้าว จึงมีการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเยี่ยมชม 4 ศูนย์ข้าวชุมชนต้นแบบ ประกอบด้วย

S 8315048

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดอนหัน ด้าน นายคณาธิป ไพศรี ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดอนหัน อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดอนหัน เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 ขึ้นทะเบียนศูนย์ข้าวชุมชน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 สมาชิกทั้งหมด 63 ราย มีพื้นที่ทั้งหมด 864 ไร่ ผลผลิตทั้งหมด 345,600 ตัน จากการเข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2563 ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อเป็นหัวเชื้อในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในชุมชนต่อเนื่อง 3 ปี พันธุ์ข้าวที่ปลูก พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 รวมถึงได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ เครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิตข้าวคุณภาพ และการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าพัฒนาศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และข้าวอินทรีย์คุณภาพดี แปรรูปจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Shoppy สร้างรายได้มากขึ้น

S 8315050

ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลใหม่นาเพียง ด้าน นายไพศาล ผาจันดา ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลใหม่นาเพียง บ้านถลุงเหล็ก จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การก่อตั้งศูนย์ข้าวชุมชนตำบลใหม่นาเพียง เมื่อปี พ.ศ. 2544 เริ่มต้นจากกลุ่มที่มีความโดดเด่นด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในชุมชน จึงได้ขึ้นทะเบียนศูนย์ข้าวชุมชนกับกรมการข้าว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 มีสถานที่ตั้งใน หมู่ 7 บ้านถลุงเหล็ก ตำบลใหม่นาเพียง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น สมาชิกทั้งหมด 60 ราย จากศักยภาพการผลิตพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ถึง 1,700 ไร่ ต่อปี และด้วยรางวัลการันตีกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดีเด่น ในปี 2566 และรางวัลที่ 2 ในการประกวดศูนย์ส่งเสริม และผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนดีเด่น ประเภทข้าวหอมมะลิ ในปี 2567 ทำให้มีความพร้อมนำข้าวคุณภาพส่งออกไปยังต่างประเทศ ด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย มาช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีการเสริมสร้างความรู้แก่ชาวนา ทั้งในด้านการรวมกลุ่มการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวเป็นสินค้า เช่น ข้าวฮาง สบู่ น้ำข้าวกล้องงอก และกรมการข้าวได้ถ่ายทอดความรู้เป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรสำหรับระบบควบคุมภายในมาตรฐานอินทรีย์ต่างประเทศ เพื่อการส่งออกข้าวที่มีประสิทธิภาพต่อไป

S 8315032

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดงน้อย ด้าน นายวิชัย เผิ่งจันดา ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดงน้อย อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดงน้อย ก่อตั้งเมื่อปี 2560 ขึ้นทะเบียนศูนย์ข้าวชุมชน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 มีสมาชิกจำนวน 52 ราย พื้นที่ทั้งหมด 1,015 ไร่ ได้รับการสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดงน้อย ทำให้มีศักยภาพในการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้ผลผลิต 412 กิโลกรัม/ไร่ และได้รับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ 3 ปี (อินทรีย์ล้านไร่) พร้อมจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

S 8315035

ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ด้าน นายบุญทอม บุญยรัตน์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ตั้งอยู่เลขที่ 65 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองบัวแก้ว อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานเกษตร จังหวัดมหาสารคาม เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2551 ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย” มีสมาชิกจำนวน 75 ราย มีพื้นที่ทำนา 1,470 ไร่ ต่อมาได้เข้าร่วมกิจกรรมหลักเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2563 จากการกำกับดูแลของศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ได้ส่งเสริมให้ชาวนาในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ซึ่งทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต และผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น สามารถยกระดับผลผลิตข้าว และคุณภาพข้าวเปลือกหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สูงขึ้น ทั้งยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทางศูนย์วิจัยขอนแก่น ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว เครื่องคัดบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าว ข้าวสารและข้าวกล้อง และถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านข้าว อาทิเช่น การยกระดับโรงสีข้าวให้ผลิตตามมาตรฐาน GMP และประชุมภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างของกลุ่มนาแปลงใหญ่ ให้ประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวพันธุ์คุณภาพดี รวมถึงยังมีการผลิตข้าวอินทรีย์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ ตั้งแต่การเตรียมแปลง การปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการเก็บรักษา

S 8315039

สำหรับ“โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน” โดยสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว ที่กรมการข้าวได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 เป็นต้นมา ได้ทำให้ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ด้วยองค์ความรู้ด้านการผลิตข้าว เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ได้ส่งมอบให้ชาวนา ทำให้เพิ่มศักยภาพ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ชาวนาไทยผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยประหยัดแรงงาน และลดต้นทุนการผลิต และสร้างเครือข่ายการทำนาได้อย่างยั่งยืน

S 8315042
S 8315051
S 8315052
S 8315054