นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะนี้ ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของคุณภาพทุเรียน ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร รณรงค์ยกระดับมาตรการในการกำจัด และป้องกัน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain ตั้งแต่การผลิตจากสวนของเกษตรกร การเก็บเกี่ยว คัดบรรจุ และการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขอนามัยพืช มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ
วันที่ 15 สิงหาคม 2567 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดี พร้อมทั้งหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ของกรมวิชาการเกษตร ร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ร่วมกับ นางพรทิพย์ ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ ห้องประชุม สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
จังหวัดอุตรดิตถ์ พบการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในพื้นที่อำเภอลับแล และอำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ผลการประชุมได้มีมาตรการกำหนดการคุมเข้มการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ที่ปลูกในสภาพแปลงที่มีความลาดชันสูง ด้วยแนวทาง 3 ป และ มาตรการกรอง 4 ชั้น ดังนี้
ป (1) ป้องกัน การป้องกันโดยใช้กับดักไฟ (แบล๊คไลท์) เพื่อล่อผีเสื้อกลางคืนของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูก ซึ่งมี 2 กรณี ดังนี้
-การป้องกันโดยใช้กับดักแสงไฟ ที่มีภาชนะบรรจุน้ำหรือแหล่งน้ำใต้หลอดแบล็คไลด์ ในกรณีหากพบผีเสื้อของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอยู่ในน้ำ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่แหล่งปลูกนั้น ให้เร่งดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดผีเสื้อและไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้นให้เกษตรกรปิดดักแสงไฟเพื่อไม่ให้ผีเสื้อต่าง ๆ บินมาหาแสงไฟกับดัก
-การป้องกันโดยใช้กับดักแสงไฟ และมีอุปกรณ์พัดลมดูดแมลงศัตรูพืช พร้อมกำจัดแมลงที่บินมาหากับดักแสงไฟ ในกรณีหากพบผีเสื้อของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ให้ดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่แหล่งปลูกนั้นเช่นกัน ให้เร่งดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดผีเสื้อและไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกอย่างเร่งด่วน
ป (2) ปราบปราม ตั้งแต่ระยะดักแด้ และตัวเต็มวัย ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในช่วงปลายฤดูฝน ทั้งการใช้สารเคมี และชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดในระยะดักแด้ การใช้สารเคมีควรใช้ในรูปแบบสูตรชนิดเม็ด เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนย้าย และสะดวกในการหว่าน โดยแนะนำให้เกษตรกรหว่านให้ทั่วแปลงปลูก จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 15-30 วัน สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ที่แนะนำใช้ในการหว่าน (เลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง) ได้แก่
-Dinotefuran (ไดโนทีฟูแรน) : ไดโนทีฟูแรน 20%SG
- Fipronil (ฟิโพรนิล) : ฟิโพรนิล 0.3%GR ฟิโพรนิล 80%WG
– Cartap hydrochoride (คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์) : คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 50%SP
ใช้ตามอัตราคำแนะนำตามฉลากของสารเคมีที่นำมาใช้
สำหรับการปราบปรามผีเสื้อ (ตัวเต็มวัย) ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และระยะไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยเฉพาะในกรณีเริ่มพบผีเสื้อของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในบริเวณแปลงปลูกทุเรียนหรือพื้นที่ใกล้เคียง ให้เกษตรกรเร่งดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดผีเสื้อและไข่ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูกอย่างเร่งด่วน
การใช้ชีวภัณฑ์ในการราดลงดินใบพื้นที่บริเวณรัศมีทรงพุ่ม ชีวภัณฑ์ที่สำคัญได้แก่ เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium) โดยแนะนำให้เกษตรกรราดเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมให้ทั่วแปลงปลูก และราดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 15-30 วัน
ป (3) ประชาชน บูรณาการร่วมกันของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ ในการให้ข้อมูลซึ่งกันและกันกรณีพบผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในช่วงต้นฤดูกาลของการเริ่มติดผลทุเรียนในแหล่งปลูก
-การกำจัดดักแด้หนอนในดิน ผีเสื้อ (ตัวเต็มวัย) และไข่หนอน เกษตรกรในพื้นที่ต้องร่วมบูรณาการกำจัดในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน และดำเนินการกำจัดให้เป็นพื้นที่วงกว้างให้มากที่สุด เพื่อทำให้ปัญหาของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่พบการระบาดในพื้นที่ค่อย ๆ ลดลงหมดไป
-การร่วมกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนของประชาชนผู้บริโภค ผู้ขายผลผลิตทุเรียนสดในพื้นที่ ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียน และโรงงานแปรรูปผลผลิตทุเรียน ในกรณีพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนติดไปกับผลผลิตให้ดำเนินการกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่พบทันที และไม่ทิ้งหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนลงดินในบริเวณนั้น
สำหรับมาตรการกรอง 4 ชั้นนั้น เมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน ต้องดำเนินการตามมาตรการกรอง 4 ชั้น ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนดังนี้
กรองชั้นที่ 1 : การคัดทุเรียนคุณภาพ ผลผลิตทุเรียนต้องตัดแก่ และบ่มไว้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
กรองชั้นที่ 2 : การบ่มทุเรียน 48 ชั่วโมง แยกผลผลิตตามแหล่งที่มา เพื่อคัดแยกผลที่พบการทำลาย ผลผลิตที่ไม่พบการทำลายต้องบ่มไว้ที่อุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48-72 ชั่วโมง และตรวจสอบก่อนจะนำผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพลงกล่อง
กรองชั้นที่ 3 : การสุ่มตรวจสุขอนามัยพืช ยกระดับจาก 3 เป็น 5 %
กรองชั้นที่ 4 : การสุ่มตรวจศัตรูพืชอีกครั้ง ณ ด่านปลายทางที่ออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary certificate : PC ) เพื่อใช้ในการส่งออก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทางการเกษตร จำเป็นต้องร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาทั้ง แนวทาง 3 ป และมาตรการกรอง 4 ชั้น เพื่อมิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ต่างยืนยันว่า ยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนภายในประเทศ และต่างประเทศ อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งการบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนกวน ไอศกรีมทุเรียน ซี่งราคาจำหน่ายทุเรียนในประเทศ ยังได้ราคาดี ไม่น้อยกว่า การส่งออก ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และยังต้องเสี่ยงกับการเรียกเก็บเงินปลายทางอีก สอดรับกับการสอบถามทูตเกษตรประจำกรุง ปักกิ่ง กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ยืนยันความต้องการ และราคาทุเรียนไทยคุณภาพในจีนยังสูงอยู่ ซึ่ง รมว.เกษตร ได้สั่งการให้ กรมวิชาการเกษตร ยกระดับความเข้มข้นทั้งมาตรการกรอง 4 ชั้น มาตรการระยะสั้น มาตรการระยะยาว เพื่อป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ