นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถผลิตพืชสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและมีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและ สศก.รับผิดชอบติดตามโครงการฯ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการในพื้นที่ 56 จังหวัด พัฒนาองค์ความรู้และทักษะของเกษตรกรได้จำนวน 1,810 ราย ครบตามเป้าหมาย พัฒนาความรู้และทักษะของเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการสนับสนุนให้สินค้าเกษตรชีวภาพมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ
ภาพรวมจากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ นครพนม พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และสิงห์บุรี พบว่า เกษตรกรทุกรายได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากโครงการในการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ อาทิ องค์ความรู้ในการผลิต การปลูก การดูแลรักษาแปลง การป้องกันและการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช เป็นต้น โดยเกษตรกรทุกราย หรือร้อยละ 100 นำความรู้ที่ได้รับมาใช้ปรับปรุงการผลิต ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการผลิตพืชสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล ขิง ข่า เป็นต้น เพิ่มขึ้น สามารถจำหน่าย และสร้างรายได้เสริม ให้แก่ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ย 2,120 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ เช่น จิ้งหรีด ผึ้งพันธุ์ ชันโรง เป็นต้น เกษตรกรได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ในการจัดการฟาร์ม การเลี้ยงดูแล การให้อาหาร การป้องกันและกำจัดศัตรูจิ้งหรีด ผึ้ง เป็นต้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำหน่าย และสร้างรายได้เสริม ให้แก่ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ย 25,506 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังมีการรวมกลุ่มหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตการตลาดครบทุกราย หรือร้อยละ 100 อีกด้วย
สำหรับเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 สศก. โดยศูนย์ประเมินผล มีแผนติดตามโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และมุกดาหาร อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแก่เกษตรกร ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาด โดยหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะร่วมกันพัฒนาโรงแปรรูปวัตถุดิบพืชสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ผลิต โดยมีการสนับสนุนโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และฝึกอบรมหลักสูตรการแปรรูปสมุนไพรด้วยโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรร่วมกันต่อไป