นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมระดับสูงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ไทย-จีน ครั้งที่ 8 ณ นครซีอาน มณฑลส่านซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงด้านสุขอนามัย และสุขอนามัยพืชระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน คิดเป็น 1 ใน 3 ของอาเซียน สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนได้เป็นอย่างดี
ในปี 2568 จะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี ไทย-จีน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำประเทศจีน กรมวิชาการเกษตร กรมประมงและกรมปศุสัตว์ เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ให้ยกระดับความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิคต่างๆในการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรส่งออกของไทยตลอด `Supply Chain
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรด้านพืชจากไทย ไปจีนตามนโนบาย รมว.เกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการขออนุญาตเปิดตลาดสินค้าไม้ผล ในลักษณะผลไม้สด ผลไม้แช่เยือกแข็ง เปิดด่านฯ เพื่อเพิ่มเส้นทางในการขนส่งและโลจิสติกส์ พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการตรวจปล่อย รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแจ้งเตือนจากฝ่ายจีน กรณีการตรวจพบแมลงศัตรูพืช สารตกค้าง และโลหะหนัก เป็นโอกาสดีที่กรมวิชาการเกษตร ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาทางเทคนิคด้านสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช ระดับอธิบดี และระดับสูง ซึ่งผลจากประชุมที่เกี่ยวข้องประเด็นทางด้านพืชที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ดังนี้
1.GACC จีนเร่งอนุญาตการเปิดตลาดผลไม้ ปัจจุบันไทยได้ขอเปิดตลาดมังคุดแช่เยือกแข็งไปแล้ว และได้ร่วมพิจารณาร่างพิธีสารฯ แล้วเสร็จคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการเสนอลงนามภายในปีนี้ และได้ยื่นขอเปิดตลาดผลไม้แช่เยือกแข็ง ครอบคลุมผลไม้ไม่ระบุชนิดเพิ่มเติม นอกจากนี้ฝ่ายไทยได้เสนอขอเปิดตลาด มะยงชิดผลสด ไปยังจีนเพิ่มเติม ซึ่งผลไม้ดังกล่าวเป็นที่นิยมของผู้บริโภคของคนจีน และไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตที่มีมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุ GMP/HACCP
2.GACC อนุมัติให้ด่านท่าเรือกวนเหล่ย เขตฯ สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เป็นด่านนำเข้าผลไม้สดจากต่างประเทศแห่งใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรผ่านแม่น้ำโขง จากด่านเชียงแสน จ.เชียงราย ไปยังด่านท่าเรือกวนเหล่ยได้โดยตรง เป็นการเพิ่มช่องทางในการส่งออกผลไม้สดไปจีน ในภาคเหนือของไทย นอกเหนือจากเส้นทางบก R3A ของด่านเชียงของ ที่มีความหนาแน่นของการขนส่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นผลจากการผลักดันในระดับนโยบายระหว่างรัฐบาลไทย-จีน โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงการเจรจาในเวทีต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำประเทศจีน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
3.การแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Phyto กับจีน ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนผ่านทางช่องทาง NSW ของไทยไปยัง Linkage ของ GACC จีน ซึ่งจะยกระดับความน่าเชื่อถือของใบรับรอง อำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านจีน ลดต้นทุน ระยะเวลา รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถทดสอบระบบได้
4.มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการแจ้งเตือนจากสาเหตุการตรวจพบแมลงศัตรูพืช สารตกค้าง และผิดเงื่อนไขการนำเข้า ณ หน้าด่านจีน ตลอด Supply Chain ซึ่ง GACC ชื่นชม ในมาตรการบูรณาการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของไทยอาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด หน่วยงานระดับจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ สำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ประจำประเทศจีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ขยายผลเพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เน้นย้ำว่า ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กรมวิชาการเกษตร ได้นำมาสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภายใน และภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกภาคส่วน ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ การผลิตในระดับสวน การเก็บเกี่ยวผลผลิต การคัดบรรจุ รวมถึงการออกใบรับรองสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช รวมถึงการเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยกำหนดเป็นมาตรการเพื่อผลิตผลไม้คุณภาพ มิให้มีผลกระทบกับตลาดของผู้บริโภคภายใน และส่งออกต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ต่างยืนยันว่า ยังมีความต้องการบริโภคผลไม้คุณภาพเป็นจำนวนมาก ทั้งการบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งผลไม้แช่แข็ง
นอกจากนี้จีนพอใจและชื่นชมมาตรการกรอง 4 ชั้นของกรมวิชาการเกษตร ในการป้องกันปัญหาแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เรื่องหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจากประเทศไทย สอดรับกับการสอบถามทูตเกษตรในจีน ยืนยันความต้องการผลไม้ไทยคุณภาพในจีนยังสูงอยู่