นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานกิจกรรมปฏิบัติการลงแขกลงคลอง (จับปลาหมอคางดำในพื้นที่) โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงเกษตรเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงในพื้นที่ เข้าร่วม พร้อมมอบเครื่องมือประมงใช้จับปลาหมอคางดำให้แก่เกษตรกรและชาวประมง ตลอดจนตรวจตรวจเยี่ยมจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ และชมการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ณ บริเวณด้านหลังตลาดคลองด่าน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
นายอรรถกร กล่าวว่า จากการระบาดของปลาหมอคางดํา ในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม และนนทบุรี กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงกําลังเร่งดําเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยมุ่งเน้นไปที่ 7 มาตรการสําคัญ โดยเฉพาะมาตราการที่ 1 การควบคุมและกําจัดปลาหมอคางดําในแหล่งน้ําทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมาตราการที่ 3 การนําปลาหมอคางดําที่กําจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากขณะนี้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกําจัดปลาหมอคางดําออกจากแหล่งน้ํา ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
”กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม ภาคเอกชน และประชาชน ในการร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำออกไปจากระบบนิเวศให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเปิดจุดรับซื้อเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังมีชาวประมง และประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ยังเกิดความไม่มั่นว่าจับแล้วจะนำไปขายที่ไหน และขายได้ 15 บาท/กก. จริงหรือไม่ ผมขอยันยันว่า กระทรวงเกษตรฯ รับซื้อทุกกิโลในราคา 15 บาทจริง และยืนยันว่าทุกคนสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยมอบหมายให้กรมประมงเร่งชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องจุดรับซื้อให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพื่อรับรายงานปัญหาจากจังหวัดและเร่งเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้รอต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องเร่งตัดวงจรการแพร่ระบาด ไม่ให้กระทบต่อรุ่นลูกรุ่นหลานเรา เชื่อมั่นว่าหากเราทุกคนร่วมมือกันสถานการณ์จะดีขึ้น“ รมช.อรรถกร กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ กรมประมงได้มีการจัดตั้งจุดรับซื้อขึ้นทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด จํานวน 73 จุด โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดําที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ําหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนําไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนําไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดํา ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีปริมาณรับซื้อปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 22,000 กิโลกรัม
สําหรับจุดรับซื้อแต่ละจังหวัด มีดังนี้ จังหวัดจันทบุรี มีจุดรับซื้อทั้งหมด 4 จุด จังหวัดระยอง 2 จุด จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 จุด จังหวัดสมุทรปราการ 6 จุด จังหวัดนครปฐม 1 จุด จังหวัดนนทบุรี 1 จุด จังหวัดสมุทรสาคร 6 จุด จังหวัด สมุทรสงคราม 3 จุด จังหวัดราชบุรี 1 จุด จังหวัดเพชรบุรี 10 จุด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 13 จุด จังหวัดชุมพร 14 จุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 จุด จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 จุด และจังหวัดสงขลา 1 จุด รวมทั้งสิ้น 73 จุดรับซื้อ
โดยผู้ขายรายย่อย (เกษตรกร ชาวประมง) ไม่มีหลักเกณฑ์กําหนดในการรับซื้อ สามารถนํามาขาย ณ จุดรับซื้อต่าง ๆ ได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ไม่จํากัดจํานวน แต่หากเกษตรที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา (ทบ. 1) จับจากบ่อตนเอง ให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ กรมประมงขอความร่วมมือแจ้งแหล่งน้ำที่จับและเครื่องมือที่จับกับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อไป
อธิบดีกรมประมง ยอมรับส่งผลสอบถึงกระทรวงฯแล้ววานนี้แต่พูดมากไม่ได้เพราะเตรียมฟ้องเอกชนต้นตอปัญหา หวั่นกระทบคดี
ด้านนายบัญชา แก้วสุข อธิบดีกรมประมงยืนยันว่าได้ส่งผลการสรุปการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดถึงต้นตอที่มาของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไปที่กระทรวงเกษตรฯ แล้วตั้งแต่ช่วงเที่ยงเมื่อวันที่2 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมกับส่งหนังสือไปยังประเทศกานาเพื่อขอชิ้นเนื้อหรือตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของปลาหมอคางดำซึ่งเป็นต้นทางที่ภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาวิจัยในประเทศไทยในปีพ.ศ.2553โดยจะนำมาให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสายพันธุกรรมเทียบเคียงกับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายใน 17 จว.ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด ชลบุรี และนนทบุรีและยืนยันว่า กรมประมงไม่หยุดดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบหาสาเหตุของการแพร่เพื่อปกป้องเกษตรกร
ส่วนรายละเอียดผลสอบสวนนั้น ตนจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด รวมทัั้ง มีขบวนการดำเนินการฟ้องร้องบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากเปิดเผยอาจมีผลต่อการสอบสวนและรูปคดี จึงไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
“เมื่อวานตอนเที่ยงได้ส่งไปให้ที่ ก.เกษตรฯ แล้วผมเองก็ไม่ได้ดูรายละเอียดมากนะก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของแต่ละกระบวนการ และขณะนี้เราก็ทราบข่าวว่ามีการฟ้องร้องหน่วยงานกับผู้เกี่ยวข้อง จึงไม่ขอพูดถึงรายละเอียดเพราะอาจกระทบต่อรูปคดีได้ ตอนนี้ผู้ยื่นความจำนงค์แสดงสิทธิ์ในทางศาลแล้วถ้าโดยหลักถ้าแสดงถึงอะไรบางอย่างที่จะทำให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็ไม่ควรที่จะต้องเอามาเปิดเผยในที่สาธารณะ “นายบัญชากล่าว