อธิบดีกรมประมงเผย ส่งหนังสือถึงประเทศกานาเพื่อขอชิ้นเนื้อหรือดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ ตรวจสอบสายพันธุกรรมเทียบกับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายในประเทศไทย ยืนยันไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบหาต้นตอพร้อม เผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่“ธรรมนัส”สั่งการให้แล้วเสร็จใน 7 วัน ส่งถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าล่าสุด ได้ส่งหนังสือไปยังประเทศกานาเพื่อขอชิ้นเนื้อหรือตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของปลาหมอคางดำซึ่งเป็นต้นทางที่ภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาวิจัยในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2553 โดยจะนำมาให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสายพันธุกรรมเทียบเคียงกับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายใน 17 จังหวัดได้แก่ ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด ชลบุรี และนนทบุรีและยืนยันว่า กรมประมงไม่หยุดดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบหาสาเหตุของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น (Alien Spicies) ที่รุกรานระบบนิเวศและสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรไทย
ส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้ดำเนินการภายใน 7 วันได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยส่งถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เช้าวันนี้ (2 สิงหาคม 2567) เพื่อรายงานต่อนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และร้อยเอกธรรมนัสตามลำดับต่อไป
สำหรับเรื่องที่สภาทนายความรับเรื่องร้องเรียนต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยสภาทนายความจะฟ้องร้องกรมประมงและบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้านั้น นายบัญชากล่าวว่า สภาทนายความดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ยืนยันว่า ในฐานะที่เป็นอธิบดีกรมประมงจะดำเนินการทุกอย่างตามอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเพื่อกอบกู้ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลาน