กรมวิชาการเกษตร บูรณาการกับทุกภาคส่วน ยกระดับมาตรการเข้มข้นระยะสั้น ระยะยาว ป้องกัน และกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

S 3563544
S 3563547

นายรพีภัทร์ จันทรศรี่วงศ์ อธิบดีกรมวิขาการเกษตร เปิดเผยในการลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จากที่ได้มีการประชุมหารือมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต) เป็นประธานการประชุม โดยมีนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตร และนายสัญชัย ปุรณะชัยศิริ ที่ปรึกษา รมว.เกษตร และคณะกรรมการ Fruit board เข้าร่วมประชุมให้คำแนะนำด้วย  ณ ห้องประชุม 1403 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับมาตรการในการป้องกันกำจัด และป้องกัน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain ตั้งแต่การผลิตจากสวนของเกษตรกร การเก็บเกี่ยว คัดบรรจุ และการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขอนามัยพืช มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และภายนอกประเทศ

S 3563548

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ทำงานอย่างหนักร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ (ศอ.บต.) กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สหกรณ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด หน่วยงานระดับจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ สำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ประจำประเทศจีน และภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ขยายผลเพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน และ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นมาตรการกรอง 4 ขั้นตอน ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มีคำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ และด่านตรวจพืชที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามมาตรการ 4 ขั้นตอนในพื้นที่เสี่ยงการระบาดอย่างเคร่งครัด

S 3563549

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ผลการประชุมในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 มีการพิจารณามาตรการระยะสั้น และระยะยาวเพิ่มเติม เพื่อเป็นมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ดังนี้

มาตรการระยะสั้น

1.กรมวิชาการเกษตร จะเสนอโครงการผ่านกลไกของ คณะกรรมการ Fruit board เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (งบกลาง) ในการจัดหากับดักแสงไฟโดยใช้หลอด black light ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่แพร่ระบาด เพื่อใช้ล่อผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมาทำลาย รวมถึงการจัดทำห้องเย็นเก็บรักษาทุเรียน ภายใต้การร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์

S 3563551

2.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (ด่านตรวจพืช) และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ยกระดับ “มาตรการกรอง 4 ชั้น” ก่อนการส่งออกในพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศ โดยให้โรงคัดบรรจุลดปริมาณการใช้สารเอทิฟอนป้ายขั้วผล (เพื่อเร่งสุก) เพื่อให้ผลทุเรียนสุกช้าลง และเพิ่มระยะเวลาบ่มทุเรียนในโรงคัดบรรจุให้นานขึ้น จากเดิม 24 ชั่วโมง เพิ่มเป็น 48-72 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ เพื่อให้หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนออกมา จากผลทุเรียนหากผลนั้นถูกหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเข้าทำลาย พร้อมกำหนดให้เปิดตรวจตู้สินค้าทุเรียนที่หน้าด่านตรวจพืชปลายทาง 100% ทุกตู้ หากพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนท้ายตู้ ห้ามไม่ให้ส่งออกไปจีนอย่างเด็ดขาด

S 3563552

3.กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 พิจารณาใช้มาตรการระงับการส่งออกชั่วคราว สำหรับโรงคัดบรรจุที่พบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

4.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 และ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ให้ความรู้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการป้องกันกำจัด การจัดการผลเสีย เปลือก เศษชิ้นส่วน และเมล็ดที่ถูกหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเข้าทำลายอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพาหะนำพาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ใหม่

S 3563553

5.กรมวิชาการเกษตร หารือกับกรมการค้าภายใน สหกรณ์การเกษตร เกษตรกรในพื้นที่แพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และผู้ประกอบการ ในการผลักดันให้นำทุเรียนที่ถูกหนอนเจาะเมล็ดเข้าทำลาย มาแปรรูปเป็นทุเรียนแกะเนื้อแช่เยือกแข็ง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียน เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออก

6.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ประสานกับทูตเกษตรปักกิ่ง กว่างโจว และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงผู้ประกอบการ เพื่อทราบปัญหาการตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ด่านนำเข้าของจีน เพื่อให้สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาได้ทันที

S 3563555

มาตรการระยะยาว

1.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช วิจัยพัฒนาฟีโรโมน เพื่อใช้ล่อผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพศผู้มาทำลาย รวมถึงการใช้โดรนพ่นสารกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดการแพร่ระบาดในแปลงปลูก

2.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ศึกษาวิจัยการใช้เทคโนโลยีกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในแปลงปลูก ควบคู่กับมาตรฐาน GAP

3.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด บูรณาการความร่วมมือในการสำรวจ เผ้าระวัง และจัดทำแผนที่การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด และบังคับใช้มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาได้ทันที

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทางการเกษตร จำเป็นต้องร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาทั้งมาตรการกรอง 4 ชั้น มาตรการระยะสั้น และระยะยาว เพื่อมิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศซึ่งภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต ต่างยืนยันว่า ยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนภายในประเทศ และต่างประเทศ อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งการบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนทอดกรอบ ทุเรียนกวน ไอศกรีมทุเรียน ซี่งราคาจำหน่ายทุเรียนในประเทศ ยังได้ราคาดี ไม่น้อยกว่า การส่งออก ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และยังต้องเสี่ยงกับการเรียกเก็บเงินปลายทางอีกสอดรับกับการสอบถามทูตเกษตรประจำกรุง ปักกิ่ง กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ยืนยันความต้องการ และราคาทุเรียนไทยคุณภาพในจีนยังสูงอยู่ ซึ่ง รมว.เกษตร ได้สั่งการให้ กรมวิชาการเกษตร ยกระดับความเข้มข้นทั้งมาตรการกรอง 4 ชั้น มาตรการระยะสั้น มาตรการระยะยาว เพื่อป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตลอด Supply Chain มิให้มีผลกระทบกับตลาดภายใน และส่งออกต่างประเทศ