“CPF” เบี้ยว อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ “ณัฐชา” เผยเตรียมเชิญ สนง.กฤษฎีกา-หน่วยงานประเมินความเสียหายสิ่งแวดล้อม สัปดาห์หน้า แนะรัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทำลายระบบนิเวศน์ เรียกร้องรัฐบาลแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

1720162

วันที่ 25 ก.ค. 2567ที่อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ กล่าวก่อนการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ในวันนี้ ว่าจากการที่คณะฯ เชิญตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด CPF คือ นายเปรมศักดิ์ วนิชสุนทร มาชี้แจงทั้ง 2 ครั้งแล้วนั้น ปรากฏว่าได้รับเอกสารว่าไม่สามารถมาร่วมชี้แจงได้ โดยไม่ได้ระบุเหตุผล พร้อมทั้งแนบเอกสารชี้แจงข้อมูลมาเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตรงกันกับข้อมูลของกรมประมงที่ได้รับมาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เนื้อหา เป็นเพียงการชี้แจงว่าได้ยื่นเอกสารต่างๆให้กับกรมประมงแล้ว แต่ยังไม่ได้มีอะไรที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ พร้อมฝากไปยังบริษัทเอกชน ว่าพื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นจุดในการชี้แจงความบริสุทธิ์ใจให้กับพี่น้องประชาชนได้มากที่สุด และดีกว่าการแถลงต่อสื่อมวลชนบางสำนักซึ่งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย

ส่วนการเชิญบริษัทเอกชนเข้าให้ข้อมูลในชั้นอนุกรรมาธิการดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก ในวันนี้ทำได้เพียงแค่ขอความร่วมมือ เมื่อขอความร่วมมือไปแล้วและไม่ได้ความร่วมมือตอบกลับ มานั้นก็คงต้องสรุปตามข้อมูลที่มีอยู่ ก็คือข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่มีและดำเนินต่อในสัปดาห์หน้าคือการเชิญคณะกรรมกฤษฎีกามาแนะนำหน่วยงานของรัฐในการฟ้องร้องต่อไป และเชิญหน่วยงานที่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาลเพราะ ปลาสายพันธุ์นี้ทำลายชีวิตของประชาชน และเกษตรกรไปแล้วนับไม่ถ้วน

นายณัฐชา ยังกล่าวว่า หากดูจากข้อมูลของกรมประมง จะแสดงให้เห็นว่าการนำเข้ามาของบริษัทเอกชนเป็นข้อมูลที่ทำผิดเงื่อนไข เป็นการอนุญาติแบบมีเงื่อนไขและทั้งนี้ไม่สามารถ ระบุตัวตนของปลาหมอคางดำได้เพราะไม่มี DNA ของปลาหมอคางดำล็อตแรก 2,000 ตัว ซึ่งขณะนี้มีDNA ปี 2560 และ 2565 แต่ยังขาดปี 2554 อยู่ ซึ่งทำได้เพียงการสันนิษฐานไว้ว่าผิดเท่านั้น อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมธิการการตรวจสอบสมุดคุมพันธุกรรมระหว่างปี 2550 – 2560 แต่ก็ไม่มีการรับหรือตัวอย่างของปลาทั้งสองโหล ซึ่งในกรมประมงมีตัวอย่างพันธุ์ปลากว่า 5,000 โหลและคงเป็นไปไม่ได้ที่เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 จะพัดนำโหลทั้งสองขวดของปลาหมอคางดำหายไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมง 9 ราย ขอเข้าไปสุ่มตรวจในศูนย์วิจัย แต่ได้รับคำตอบว่าผ่านปลาที่นำเข้ามาตายหมดแล้ว จึงห่วนแหตรวจในบ่อพัก และพบปลาหมอคางดำจำนวน 10 ตัวขนาดประมาณ 7 เซนติเมตร ซึ่งจากการประเมินของชาวบ้านคาดว่าจะมีอายุประมาณหนึ่งปี จึงเกิดคำถามว่าเมื่อปลาตายและยุติการวิจัยไปแล้วเหตุใดเมื่อเวลาผ่านไปจึงมีปลาจำนวน 10 ตัวอยู่ในบ่อพัก และตั้งแต่ปี 2560 และยังไม่มีความคืบหน้าด้านคดีความ หน่วยงานของรัฐ ควรจริงจังและดำเนินการให้ถึงที่สุด ไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้ไปต่อได้อีกแล้ว

ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้ทางพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดได้หารือกับประธานวิปฝ่ายค้านแล้ว โดยทีมอภิปรายของพรรคก้าวไกลทั้ง 13 คน ที่รวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อตั้งญัติด่วน ด้วยวาจาเสนอไปยังรัฐบาล ถึงการระบาดครั้งนี้ที่เป็นครั้งระบาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสัตว์น้ำ ทำลายอาชีพของเกษตรกร และ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ มีมูลค่าความเสียหายที่ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ และไม่สามารถที่จะรอให้คนที่มีจิตสำนึกเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ได้ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้